สกายสแกนเนอร์รุกพัฒนากระตุ้นนักเที่ยว
การเดินทางแต่ละครั้งคนรุ่นใหม่ค้นหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อนจากทางอินเทอร์เน็ตแล้วตัดสินใจจอง เพราะเชื่อว่าการค้นหาข้อมูลจะช่วยให้ได้ราคาดีที่สุด หรือรูปแบบตรงใจที่สุด ทำให้เว็บไซต์ค้นหาเปรียบเทียบเกิดขึ้นมากมาย
การเดินทางแต่ละครั้งคนรุ่นใหม่ค้นหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อนจากทางอินเทอร์เน็ตแล้วตัดสินใจจอง เพราะเชื่อว่าการค้นหาข้อมูลจะช่วยให้ได้ราคาดีที่สุด หรือรูปแบบตรงใจที่สุด ทำให้เว็บไซต์ค้นหาเปรียบเทียบเกิดขึ้นมากมาย
ภพปภา อารีรัตน์ ผู้จัดการพัฒนาตลาดประเทศไทย สกายสแกนเนอร์ (skyscanner.co.th) เว็บไซต์ค้นหาและเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน เปิดเผยว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่จำนวนผู้ใช้บริการเติบโตมากสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะไทย จำนวนคนไทยที่ใช้บริการค้นหาตั๋วเครื่องบินผ่านสกายสแกนเนอร์เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่ม 64% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยการเข้าชมเว็บไซต์ทั่วเอเชียแปซิฟิกซึ่งเพิ่ม 60%
หากพิจารณาช่องทางใช้งานจากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 พบว่าสัดส่วนผู้ใช้งานสกายสแกนเนอร์ในไทยใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ 42% จากโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต 58% โดยแซงหน้าคอมพิวเตอร์แล้ว ส่วนสำคัญมาจากการเปิดใช้เทคโนโลยี 3จี และ 4จี ในไทยทำให้คนไทยใช้แอพพลิเคชั่นและโมบายเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น และการใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตทำได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะระหว่างรอรับประทานอาหารและรอรถไฟฟ้า
แม้การค้นหาเกิดบนโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์ แต่จากข้อมูลพบว่า หากผู้ใช้บริการจะเชื่อมสู่ขั้นตอนการจองในเว็บไซต์สายการบินหรือเว็บไซต์ตัวกลางจองตั๋วเครื่องบินต่างๆ จะรอไปดำเนินการบนคอมพิวเตอร์มากกว่า เนื่องจากการกรอกข้อมูลจองตั๋วเครื่องบินใช้ข้อมูลจำนวนมาก เช่น เลขที่พาสปอร์ต บัตรเครดิต ผู้ใช้บริการอาจยังไม่สะดวกใจกรอกข้อมูลเหล่านี้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตเวลาอยู่ในที่สาธารณะ
“สกายสแกนเนอร์เก็บข้อมูลเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบ 54% ผู้ใช้บริการในไทยค้นหาและเลือกตั๋วเครื่องบินจากสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ ที่เหลือเป็นสายการบินราคาประหยัด จุดหมายยอดนิยมคนไทยปลายปีนี้ 10 อันดับ คือ โตเกียว เชียงใหม่ โซล ฮ่องกง สิงคโปร์ โอซากา ลอนดอน หาดใหญ่ ภูเก็ต และปารีส” ภพปภา กล่าว
ทั้งนี้ สกายสแกนเนอร์เริ่มทดลองเปิดบริการค้นหาและเปรียบเทียบที่พักและรถเช่าแล้ว แต่ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย เพราะต้องการพัฒนาให้สมบูรณ์กว่านี้ก่อน เช่น ปรับภาษาให้เข้าใจง่ายขึ้น ปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมาะกับคนไทย ส่วนฐานข้อมูลผู้ให้บริการครอบคลุมแล้ว
ขณะที่ระบบค้นหาและเปรียบเทียบตั๋วเครื่องบินพัฒนาถึงขั้นให้คนที่ยังไม่มีการวางแผนเดินทางได้สร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง หรือวางแผนได้หลังเข้าชมเว็บไซต์ เช่น มีตัวเลือกดูราคาเริ่มต้น
ตั๋วเครื่องบินไปในแต่ละจุดหมาย ดูราคาตามช่วงเวลาได้ว่าบินช่วงไหนถูกที่สุด ไม่จำเป็นต้องระบุวันเดินทางหรือจุดหมายปลายทาง
จะเห็นว่าเว็บไซต์ค้นหาได้เปรียบเทียบพัฒนาตำแหน่งตัวเองไปสู่ตัวกลางที่กระตุ้นการเดินทางแล้ว