อภิชาติ ชโยภาส ‘ราชาเฟอร์รี่’ ของมวลชน

21 ตุลาคม 2558

โดย...โสภาวดี ธเนตปราโมทย์

โดย...โสภาวดี ธเนตปราโมทย์

อภิชาติ ชโยภาส ทายาทคนโตเจ้าของธุรกิจโรงแรมดังย่านรัชดา วันนี้ การเดินเข้าตลาดหุ้นของ “ราชาเฟอร์รี่” เป็นฝันที่เดินทางมาถึงจุดหมาย ตามเจตนารมณ์ที่ “อดุล ชโยภาส” ผู้เป็นพ่อต้องการเห็นธุรกิจนี้เป็นของมวลชน บริหารงานด้วยความโปร่งใส

หากยังจำกันได้ย้อนอดีตไปปี 2536 หรือกว่า 20 ปี ที่ตระกูล “ชโยภาส” เป็นเจ้าของกิจการ “เจ้าพระยาหินอ่อน” บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้เพียงปีเศษ ก็ขายกิจการออกไป หลังจากนั้นปี 2538 เข้าซื้อกิจการ “สมุยเฟอร์รี่” ซึ่งเป็นของซีทรานเก่า มาบริหาร “อภิชาติ” เล่าว่า มีมูลเหตุจาก “ป๊า” เดินทางโดยเรือข้ามฟากที่ใช้เวลานานมาก จึงคิดซื้อและทำกิจการเรือข้ามฟากซะเอง ภายหลังซื้อจึงพบว่ากิจการเรือข้ามฟากถูกควบคุมเรื่องราคา การเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับประเทศ ตลอดจนความชำนาญเรื่องคนและเรือ

จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 35 ปี ของธุรกิจ “ท่าเรือราชาเฟอร์รี่” และ 17 ปีที่ “อภิชาติ” ได้สานต่อธุรกิจนี้จากป๊า เขาพบว่าหัวใจสำคัญของการบริหารท่าเรือ คือ การบริหารลูกค้าภายในขององค์กร คือ พนักงานให้มีความสุข เพื่อสร้างสุขแก่ลูกค้าภายนอกให้เกิดความพอใจในการใช้บริการ การปรับปรุงตลอดทางของการให้บริการตั้งแต่มีท่าเรือดอนสัก-เกาะสมุย, ดอนสัก-เกาะพะงัน ครบวงจรครอบคลุมการให้บริการ ตั้งแต่รถรับส่งจากโรงแรม มายังท่าเรือถึงปลายทาง และจุดแข็งที่เป็นความต่างของ “ราชาเฟอร์รี่” คือ การมีเรือเฟอร์รี่ (เรือขนรถยนต์และผู้โดยสาร) มากที่สุดในประเทศ จำนวน 12 ลำ ส่วนแบ่งตลาดมากถึง 60% ของตลาด อาจจะกล่าวได้ว่า ธุรกิจนี้ยังมีดีที่เป็นธุรกิจที่มีเงินสดจากการทำธุรกิจเข้ามาทุกวัน

ความฝันการนำราชาเฟอร์รี่เข้าตลาดหุ้นเดินทางมาถึงจุดหมายแล้ว ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขามีความฝันที่จะผันตัวเองมาเป็นนักเขียนและสอนหนังสือ ในการถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นการนำวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วนำมาปฏิบัติได้จริงกับราชาเฟอร์รี่ ซึ่งเขาต้องการให้เป็นต้นแบบของธุรกิจที่ใครๆ ก็ต้องการมาศึกษาจากบริษัทที่ขาดทุน พนักงานทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้ทำด้วยความสุข พลิกฟื้นมาเป็นบริษัทที่มีรายได้ดี สวัสดิการดี พนักงานมีความสุขในการให้บริการด้วยความเต็มใจ

อภิชาติ จบปริญญาตรีบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยรังสิต คณะนวัตกรรมทางสังคม ควบคู่ปริญญาโทด้านการเงิน และปริญญาเอกจากประเทศอินเดียด้านสังคมวิทยา จึงคิดและลงมือทำวิจัยการสร้างความสุขให้กับลูกค้าในองค์กรและนอกองค์กร ส่งผ่านมายังลูกค้าภายนอก จากแนวคิดการขายรองเท้าทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นงานประจำทำซ้ำซาก แต่ผลของงานที่ออกมาต้องได้ความสุข สวัสดิการ และความมั่นคงของชีวิต เป็นอีกฝันที่ต้องไปของเขา

Thailand Web Stat