ดีมานด์เทียม

28 ตุลาคม 2558

โดย...ชัตน์วรี shewarat@hotmail.com

โดย...ชัตน์วรี shewarat@hotmail.com

ดีมานด์เทียม หรืออุปสงค์เทียม คือความต้องการสินค้าที่ไม่มีจริง แต่มีการใช้กลไกทางการตลาดสร้าง หรือการเก็งกำไรสร้างขึ้นมา เพื่อหวังผลทางธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมักจะใช้กลยุทธ์ด้านการตลาด เพื่อปลุกดีมานด์กระตุ้นความต้องการซื้อ ด้วยกลยุทธ์ ลด แลก แจก แถม บางครั้งคนซื้อก็ไม่รู้ซื้อสินค้าไปทำไม รู้แต่ว่าของลดราคาและชอบของแถม หรืออาจจะลุ้นชิงโชครางวัล

แม้แต่รัฐบาลเองก็มีการออกนโยบายสร้างดีมานด์เทียมมาเหมือนกัน แต่พูดให้สวยหรูว่าเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งก็ไม่ได้ว่าผิด

ตัวอย่างนโยบายการสร้างดีมานด์เทียมของรัฐบาล เช่น มาตรการลดภาษีรถยนต์คันแรก กระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ การอัดฉีด เงินกู้กองทุนหมู่บ้าน โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท

มาตรการรถยนต์คันแรก ปีแรกของการออกมาตรการ ทำให้ยอดการขายรถยนต์พุ่งกระฉูดเติบโต แต่ในปีต่อมาเมื่อกำลังซื้อในอนาคตถูกดึงไปแล้ว ปีต่อๆ มา ยอดการซื้อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็หดตัวลง รวมทั้งหากผู้ซื้อรถไม่ได้คำนึงภาระการจ่ายต่องวดระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาต้องถูกสถาบันการเงินยึดรถ และทำให้ตลาดรถยนต์มือสองมีความปั่นป่วน และบางกลุ่มได้ไปใช้สิทธิจองรถไว้ก่อน แต่เมื่อถึงเวลากลับเปลี่ยนใจไม่รับรถยนต์ ทำให้รถยนต์ค้างสต๊อกกระทบตลาดรถมือสอง

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าคนที่มีความพร้อมที่จะซื้อบ้านแล้วก็ถือว่าเป็นโอกาสในการลดค่าใช้จ่ายได้ แต่มีบางคนที่เห็นภาพลวงตาจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยช่วง 1-2 แรกต่ำๆ ทำให้ดูเหมือนว่าผ่อนชำระหนี้ได้ แต่เมื่อระยะยาวอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ยอดเงินผ่อนต่องวดสูงขึ้น อาจจะทำให้มีปัญหาการชำระหนี้ ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่จะอาศัยโอกาสนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร

กองทุนหมู่บ้าน ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก การให้เงินดอกเบี้ย เงินกู้ต่ำๆ หรือไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งชาวบ้านต่างแห่ไปใช้สิทธิกู้เงิน โดยไม่คำนึงว่าเอาเงินมาใช้อะไร พอได้เงินกลับไม่ได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือต่อยอดสร้างรายได้ แต่เอาเงินไปใช้จ่ายซื้อของที่ไม่จำเป็น ในที่สุดเมื่อถึงเวลาชำระเงินก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็กลายเป็นหนี้เสีย

การกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการปั่นดีมานด์เทียมจะทำให้ไม่ยั่งยืน แต่ก็พอที่จะเป็นเชื้อไฟที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอยหรือการลงทุนได้บ้าง

Thailand Web Stat