posttoday

ผ้าไหมขอนแก่น

11 พฤศจิกายน 2558

ถ้าเอ่ยถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากข้าวหอมมะลิที่เลื่องชื่อแล้ว หลายคนต้องนึกถึง “ผ้าไหม” เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีกระบวนการผลิตที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว ผ้าหางกระรอก ผ้าแพรวา ฯลฯ และผ้าไหมก็เป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นมาโดยตลอด

ถ้าเอ่ยถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากข้าวหอมมะลิที่เลื่องชื่อแล้ว หลายคนต้องนึกถึง “ผ้าไหม” เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีกระบวนการผลิตที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว ผ้าหางกระรอก ผ้าแพรวา ฯลฯ และผ้าไหมก็เป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นมาโดยตลอด

จากความเหมือนและความต่างของกิจกรรมการผลิตไหม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมต่อกิจกรรม กลายเป็นเครือข่าย ภูมิภาคแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาผ่านโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด ภายใต้ยุทธศาตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วน ปี 2558 ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ขอนแก่น 

ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยงและพัฒนา รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดและแนวทางในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันของผู้ประกอบการและเครือข่าย เพื่อให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีกรณีตัวอย่างการสร้างความสำเร็จในการเชื่อมโยงธุรกิจลักษณะเครือข่าย SME (Cluster) ที่น่าสนใจ คือ เครือข่ายผู้ประกอบการกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข หนึ่งในกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมไหมไทยขอนแก่น

สำหรับกลุ่มเครือข่ายหัตถกรรมคุ้มสุขโข ชุมชนบ้านดอนข่า อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เป็นผู้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ ที่มีกระบวนการผลิตและฟอกย้อมภายใต้มาตรฐาน Organic ในระดับสากลโดยได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Production/Global Organic Textile Standard และมีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนาให้ผ้าไหมมีคุณสมบัติโดดเด่น ที่สำคัญมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ “ลายนพเก้าเฉลิมพระเกียรติ” และแปรรูปผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “มาคา”

ทวี สุขโข ประธานเครือข่ายฯ สะท้อนว่าการสนับสนุนจาก สสว. และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ช่วยให้กลุ่มได้รับข้อมูลความรู้การพัฒนาเครือข่าย ทำให้รู้จักคำว่าเครือข่าย รู้เรื่องการสร้างเครือข่ายให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยวิถีของไหม มองทุกประเด็นปัญหาได้แบบ 360 องศา และมีแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน จุดประกายความคิดที่เป็นธุรกิจแบบ Long Term Business ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคง ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ที่สำคัญโครงการได้เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพโดยการสนับสนุนพันธุ์ไหม พันธุ์หม่อน เทคนิคการสาวไหม เรียนรู้การแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ ในการผลิตไหมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เช่น ชาใบหม่อน ไอศกรีม เบเกอรี่ลูกหม่อน น้ำชีวภาพ ฯลฯ และได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำประสบการณ์ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเครือข่ายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้คิดค้นแนวทางการสร้างโอกาสให้นักท่องเที่ยว ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างวิถีชีวิตใหม่ของคนในชุมชน ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาให้ “บ้านดอนข่า” กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีกลับเข้ามาสู่ชุมชน ให้ได้รับโอกาสในการสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้ SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน