posttoday

อลิอันซ์จี้ไทยปฏิรูปบำนาญ

26 พฤศจิกายน 2558

อลิอันซ์แนะไทยเร่งปฏิรูปบำนาญ รับสังคมสูงวัย ให้มีเงินเพียงพอใช้จ่าย

อลิอันซ์แนะไทยเร่งปฏิรูปบำนาญ รับสังคมสูงวัย ให้มีเงินเพียงพอใช้จ่าย

น.ส.บริกิท มิกซา หัวหน้าฝ่ายบำนาญ บริษัท อลิอันซ์ แอสเสท แมเนจเม้นท์ ในกลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยควรผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญสำหรับผู้เกษียณอายุให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับปัญหาในอนาคต เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วมาก ขณะที่ระบบบำนาญยังไม่มีความสมบูรณ์ ไม่สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณได้เพียงพอ

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อถึงปี 2593 ไทยจะมีอัตราการพึ่งพิงผู้สูงอายุต่อคนวัยทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 53% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% จึงจำเป็นต้องเตรียมเรื่องบำนาญเอาไว้ให้ประชากรอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในภาวะยากจน โดยแนวทางแก้ปัญหาหนึ่งที่น่าจะได้ผลมากที่สุด เพื่อให้เกิดความเพียงพอ คือ การยืดอายุการทำงานหรือเกษียณออกไปอีก ถือเป็นการลดความเสี่ยงของการใช้ทรัพย์สินหมดก่อนเสียชีวิต และยังเป็นการเพิ่มระยะเวลาการออม เพิ่มโอกาสที่เพิ่ม ผลตอบแทนให้กับเงินที่ได้ออมไว้

ก่อนหน้านี้ กลุ่มอลิอันซ์ได้วิจัยวัดเรื่องความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณของประชากรในประเทศกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 49 ประเทศ พบว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุการเกษียณในระดับต่ำสุดอยู่ที่ 55 ปี มีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง และยังมีอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณต่ำ จาก ค่าเฉลี่ยที่ต้องมีรายได้อยู่ที่ 60-70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย แต่ไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่ต่ำกว่าตุรกีและสิงคโปร์

สำหรับการเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายระบบบำนาญให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึงกว่า 25 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมดประมาณ 34.5 ล้านคนในไทย ซึ่งการมี กอช.จะทำให้ไทยมีระบบที่ครอบคลุมแบบหลายแบบ ตามรูปแบบของธนาคารโลกและจะช่วยลดภาวะยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะในแถบชนบทได้

นอกจากนี้ พนักงานบริษัททั่วไปก็ได้รับการดูแลครอบคลุมผ่านรูปแบบการออมในกองทุนประกันสังคม รวมทั้งการออมด้วยความสมัครใจผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ในขณะที่ข้าราชการสามารถพึ่งพาระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และระบบบำนาญที่ลูกจ้างไม่ต้องออกเงินสมทบ

ขณะที่ไทยยังอยู่ในลำดับท้ายๆ ทั้งในงานวิจัยที่สำรวจเรื่องความเพียงพอของระบบบำนาญและความยั่งยืนของระบบบำนาญ ทำให้ระบบบำนาญของไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ลำบากของระบบบำนาญปัจจุบัน ซึ่งไทยมีอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ต่ำ ดังนั้น หากมองในเรื่องของความเพียงพอ ยังมีความเสี่ยงว่าผู้เกษียณจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงหลังเกษียณ

อย่างไรก็ตาม หากมองในเรื่องของความยั่งยืน ถือว่ายังมีข้อดี เพราะระบบบำนาญที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้เกิดภาระที่มากเกินไปต่อสถานะทางการเงินของประเทศ แต่หากผู้สูงวัยมีฐานะจนลงมากหลังเกษียณ รัฐบาลอาจต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ และนั่นอาจนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของระบบบำนาญก็เป็นได้