posttoday

'ธกส.'เล็งออกหุ้นกู้เพิ่มทุน

01 มกราคม 2559

ธ.ก.ส.ตั้งไข่ศึกษาแนวทางการเพิ่มทุน เล็งออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเสริมกองทุนขั้นที่ 2

ธ.ก.ส.ตั้งไข่ศึกษาแนวทางการเพิ่มทุน เล็งออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเสริมกองทุนขั้นที่ 2

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ตั้งทีมศึกษาเรื่องการเพิ่มทุนด้วยวิธีการอื่นๆ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ธนาคารนำเงินปันผลส่งเข้ากระทรวงการคลัง จากเดิมที่ใช้เงินปันผลสมทบเข้าเป็นเงินเพิ่มทุนของธนาคารทุกปี

ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2557 ธนาคารได้ส่งเงินปันผลเข้าเป็นรายได้แผ่นดินเป็นจำนวนกว่า 3,500 ล้านบาท โดยหนึ่งในแนวทางการเพิ่มทุนที่ศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อระดมทุนเข้ามาสมทบในกองทุนขั้นที่ 2 ต่อไปในอนาคต

สำหรับกรณีที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เข้ามาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธ.ก.ส. โดยอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของ ธ.ก.ส.เปรียบเทียบกับองค์กรต่างๆ ในประเทศอยู่ที่ระดับ AAA (tha) โดยมีระดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุดและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นไม่เกิน 13 เดือน เปรียบเทียบกับองค์กรต่างๆ ในประเทศอยู่ที่ระดับ F1+(tha) แสดงถึงระดับความสามารถอยู่ในชั้นสูงสุดในการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของตราสารหนี้ตามกำหนด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารหนี้รายอื่นในประเทศ

"นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ เตรียมความพร้อมรองรับการระดมทุนในรูปแบบใหม่ แต่หากจะมีการออกหุ้นกู้จริงอย่างเร็วในปีหน้าก็คงต้องมีการจัดอันดับผลิตภัณฑ์เพิ่มด้วย และต้องดูด้วยว่าหุ้นกู้ที่ออกมาจะขายกับคนกลุ่มใดบ้าง" นายสมศักดิ์ กล่าว

แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์รวมกว่า 1.43 ล้านล้านบาท มีทุนเรือนหุ้นสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส อยู่ที่ระดับ 11.86% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.5% มีสินทรัพย์สภาพคล่องมากกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 18.65% สูงกว่าที่ ธ.ป.ท.กำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 6%

ทั้งนี้ แม้จะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ราว 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้ตั้งสำรองไว้สูงถึง 2.1 แสนล้านบาท หรือมากกว่า 300% น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินงานอย่างน้อย 3 ปี โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่

อย่างไรก็ดี หากกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาด เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้หนี้เสียขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผล กระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคาร ซึ่งคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องการเพิ่มทุนจะเข้าไปดูใน 3 แนวทาง คือ 1.การขอเงินงบประมาณแผ่นดิน 2.การขอเงินสนับสนุนจากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ 3.การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เพื่อเอามาเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 ต่อไป

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรับมือภัยแล้งในปี 2559 ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงประมาณเดือน ก.ค. 2559 ทาง ธ.ก.ส.มีวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือ จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดิมที่มีอยู่แล้ว และมีมาตรการเจรจายืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะมีทีม คอยมอนิเตอร์ว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกไปแล้วเพียงพอหรือไม่ และต้องออกมาตรการอื่นอะไร เพิ่มเติมอีก ซึ่งต้องขึ้นกับนโยบาย กรณีที่มีการปลูกข้าวนาปรังกว่า 1 ล้านไร่ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศ ให้ชะลอการปลูกนั้น หากเกิด ความเสียหาย เกษตรกรจะต้องรับภาระเอง รัฐบาลไม่มีมาตรการ ช่วยเหลือใดๆ