สรรพากรดีเดย์ 1 ก.พ.
พ.ร.บ.ภาษีผู้รับมรดกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2558 แต่เนื่องจากกฎหมายให้ระยะเวลา 180 วัน จึงจะเริ่มเก็บภาษี กรมสรรพากรจึงจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 เป็นต้นไป
พ.ร.บ.ภาษีผู้รับมรดกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2558 แต่เนื่องจากกฎหมายให้ระยะเวลา 180 วัน จึงจะเริ่มเก็บภาษี กรมสรรพากรจึงจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 เป็นต้นไป
กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เนื่องจากกรมสรรพากรจะเก็บภาษีมรดกตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด จึงได้เห็นชอบให้กรมสรรพากรออกกฎหมายระดับรอง เป็นพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ และ กฎกระทรวง 6 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดการเก็บภาษีผู้รับมรดกทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ โดยผู้รับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีผู้รับมรดก หากผู้รับเป็นผู้สืบสันดานเสีย 5% และผู้รับเป็นบุคคลภายนอกเสีย 10%
สำหรับทรัพย์สินที่นำมาคิดการเสียภาษีรับมรดกมี 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 2.หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย และ 4.ยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย
ในส่วนของการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน 1.การคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก 2.การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับมรดก เว้นแต่ (2.1) หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น (2.2) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายในครั้งแรก หรือราคาไถ่ถอนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
3.การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้ถือเอาราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก และ 4.การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ให้ถือเอาตามมูลค่าในวันที่ได้รับมรดกนั้น
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรให้ผู้รับมรดกสามารถผ่อนการเสียภาษีได้ 5 ปี โดยต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องผ่อนชำระ แต่กรณีที่ขอผ่อนไม่เกิน 2 ปี ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากเกิน 2 ปี ต้องเสียดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้กำหนดให้มีการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก โดยเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร
ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ได้แก่ 1.บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
2.ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ
3.วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิ หรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
และ 4.บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกับนานาประเทศ