ไลน์เกาะเทรนด์ 4จี มุ่งผู้นำออนไลน์สู่ออฟไลน์
จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากถึง 40 ล้านคน
โดย..จะเรียม สำรวจ
จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากถึง 40 ล้านคน และในสิ้นปี 2559 นี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคน ส่งผลให้ไลน์เล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาขยายธุรกิจผ่านแอพพลิเคชั่นของไลน์มากขึ้น เพื่อผลักดันให้ธุรกิจก้าวสู่การเป็นผู้นำ O2O หรือการทำธุรกิจจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ ด้วยการรวบรวมบริการทั้งหมด มาไว้บนไลน์
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่น่าจับตาความเคลื่อนไหวของโลกดิจิทัลในประเทศไทย เนื่องจากเป็นปีที่มีการเปิดให้บริการ 4จี อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้เกิด 4 เทรนด์ในปี 2559 ประกอบด้วย 1.จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้น 2.จอมือถือจะกลายเป็นหน้าจอทีวี เนื่องจากเนื้อหาของคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอจะมีการดูผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยสัดส่วน 41% ของคอนเทนต์ทีวีและวิดีโอจะชมผ่านหน้าจอทีวี ขณะที่อีก 31% จะชมผ่านสมาร์ทโฟน
เทรนด์ที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น คือ เอ็ม-คอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ ผู้บริโภคที่ใช้อี-คอมเมิร์ซเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะเริ่มใช้เอ็ม-คอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ ในการซื้อสินค้าและบริการบนออนไลน์มากขึ้น และเทรนด์ที่ 4 คือ บริการ O2O หรือการขยายโอกาสทางธุรกิจจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวผลักดันให้เกิดทราฟฟิกหรือยอดขายทางออฟไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้
ปัจจุบันคนไทยมีอัตราเฉลี่ยการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ประมาณ 5.7 ชั่วโมง/วัน ในระยะเวลาดังกล่าวมีการใช้งานผ่านไลน์ในด้านของการแชตเฉลี่ยที่ประมาณ 83.7 นาที/วัน และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่จะเพิ่มมากขึ้น ไลน์จึงมีบริการ Official Account (OA) สำหรับลูกค้าองค์กรที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจด้วยการให้แบรนด์สินค้าสามารถคุยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรงผ่านไลน์ เพื่อให้การทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดโอกาสให้แบรนด์สินค้าสามารถพัฒนาบริการบนไลน์ได้ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 2.8 ล้านรายในเมืองไทยสามารใช้ไลน์จำหน่ายสินค้าผ่านบริการ LINE@ ที่ใช้งานง่าย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยปัจจุบันยังเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้บริการฟรี แต่หลังจากเข้าสู่ไตรมาส 2 ในเดือน เม.ย.จะเริ่มเก็บค่าบริการ
พร้อมกันนี้ ในส่วนของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไลน์ก็มีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือเริ่มมีความสำคัญ โดยเฉพาะบริการอี-แบงก์กิ้งของสถาบันการเงินที่เริ่มหันมา
ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจทางการเงินผ่านมือถือกันมากขึ้น
อริยะ กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญในปีนี้คือการสร้างไลน์ให้เป็นมากกว่าแอพพลิเคชั่นแชต ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มทั้งสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และองค์กรธุรกิจ เพื่อให้สมกับการเป็น LINE Beyond Chat ผ่าน 5 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจ LINE GAME ธุรกิจคอนเทนต์ LINE TV, LINE MUSIC ธุรกิจองค์กร LINE Official Account, LINE@ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ LINE GIFTSHOP และธุรกิจเพย์เมนต์ LINE Pay
ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่ผ่านมาไลน์ทั่วโลกมีรายได้ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหัฐ เพิ่มจากปี 2557 ที่มีรายได้ 718 ล้านเหรียญสหรัฐ