อวสานเหมืองผาแดง แปลงธุรกิจเป็นไบโอแมส

22 กุมภาพันธ์ 2559

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

บริษัท ผาแดงอินดัสทรี (PDI) ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคนใหม่ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และภายใต้ผู้นำคนเดิมฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการได้ประกาศหยุดธุรกิจสังกะสีปลายปี 2560 หลังจากดำเนินธุรกิจนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งนานถึง 36 ปี เนื่องมาจากสินแร่ที่เหมืองสังกะสีที่แม่สอดหมด จึงตัดสินใจเร่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) โดยขณะนี้กำลังเข้าไปตรวจสอบฐานะการเงินโรงไฟฟ้าไบโอแมส 3 แห่ง คาดว่าจะรู้ผลภายใน 3 เดือนนี้ โดยคาดว่าจะเจรจาเข้าซื้อกิจการสำเร็จ 1 แห่ง หรือประมาณ 10 เมกะวัตต์ และจะสร้างรายได้เข้ามาทันที 8 เมกะวัตต์ เมื่อการเข้าซื้อกิจการสำเร็จ

การปรับธุรกิจของ PDI ครั้งนี้ เพราะบริษัทยุติเหมืองที่แม่สอดในปีนี้ และหากดำเนินธุรกิจนี้ต่อไปต้องพึ่งพาแร่นำเข้าอย่างเดียวจากอเมริกาใต้และออสเตรเลียที่ทำให้ต้นทุนดำเนินการสูงมาก ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาสังกะสีโลกตกต่ำและปริมาณความต้องการโลหะสังกะสีของอุตสาหกรรมในไทยที่ลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น อาจทำให้ผลประกอบการขาดทุนได้

ผลจากการที่เหมืองแม่สอดปิดดำเนินการ ส่งผลให้โรงงานระยองหยุดดำเนินการปลายปีนี้เช่นเดียวกัน ส่วนโรงถลุงสังกะสีที่ จ.ตาก กิจกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการถึงสิ้นปีนี้ โดยยังมีการหลอมโลหะสังกะสีแท่งบริสุทธิ์ และโลหะสังกะสีผสมจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2560

สำหรับหน่วยงานสนับสนุนขององค์กรทั้งหมดในสำนักงานกรุงเทพฯ จะปรับลดลงให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ยังเหลืออยู่ใน จ.ตาก และ จ.ระยอง รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่

กลยุทธ์ของ PDI ภายใต้บริษัท พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี จะมุ่งลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนแต่โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่มีปัญหาการได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือพีพีเอ ดังนั้นบริษัทจึงเน้น โรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ไม่ทิ้งโอกาสในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทีมงานพีดีไอที่ดูแลการเข้าซื้อกิจการยังช่วยปรับปรุงกิจการนั้นให้มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นโดยนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้อย่างเพียงพอ

บริษัทได้เตรียมงบเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่ประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ส่วนหนึ่ง และคาดว่าจะใช้เงินทุนทั้งหมดในการซื้ิอกิจการประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) โดยบริษัท มีหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.3 เท่า จึงมีความสามารถในการกู้เงินอีกมาก

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างทบทวนโครงการเนื่องจากมีประเด็นห่วงใยของชุมชนที่บริษัทให้ความสำค้ญ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้

นอกจากนั้น ยังรออนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 50 เมกะวัตต์ บนบ่อเก็บกากแร่ที่โรงงานตากที่พร้อมส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง

ด้านบริษัท พีดีไอ-อีโค บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกากของเสียอย่างยั่งยืนในพื้นที่โรงงานตากได้เจรจากับบริษัทชั้นนำต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจนี้ จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการร่วมลงทุนเพื่อกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายในพื้นที่ภาคเหนือของไทยโดยจะตั้งอยู่ที่โรงงานตากที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงนิเวศในรูปแบบคอมเพล็กซ์ด้านการจัดการกากของเสีย ซึ่งเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย คาดว่าพีดีไอ-อีโคจะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) และข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นเร็วๆ นี้

นอกจากนั้น บริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการจัดการขยะชุมชน จ.ตาก โดยได้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอหน่วยราชการต่อไป

สำหรับบริษัท พีดีไอ แมททีเรียล บริษัทย่อยอีก แห่งได้ร่วมทุนกับบริษัท คาร์บอน รีดักชั่น เทคโนโลยี ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านรีไซเคิลของสแกนดิเนเวีย โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสังกะสีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยผ่านกระบวนการซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ

บริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที บริษัทย่อยแห่งที่สาม ได้รับสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ โดยได้รับสิทธิดังกล่าวจากบริษัท สแกนอาร์ค พลาสมา เทคโนโลยี สวีเดน ซึ่งในเอเชียยังไม่มีประเทศใดนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรีไซเคิลของเสียอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าสูงสุด ในเชิงพาณิชย์ และคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2561 ที่โรงงานพีดีไอ ระยอง

การก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในช่วงจังหวะที่ธุรกิจนี้ในประเทศกำลังจะวาย จะเป็นผลดีต่อบริษัทหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

9 เดือนแรกปีนี้ PDI มีกำไร 313 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 3 ปี 2558 ขาดทุน 75 ล้านบาท

ฟรานซิส กล่าวว่า รายได้จากธุรกิจสังกะสีในปี 2558 ยังเป็นบวกโดยมีการส่งมอบสังกะสี 6-7 หมื่นตัน เท่าปี 2557 แต่ราคาส่งมอบลดเหลือเพียง 1,933 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 2,162 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนด้านพลังงานปี 2558 และค่าใช้จ่ายก็ลดลงมากเช่นเดียวกัน  และบริษัทยังคงมีกำไรจาก ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเทียบเงินเหรียญสหรัฐ

“งบปี 2558 ได้รวมหนี้สิน และการกันสำรองการปิดกิจการในธุรกิจสังกะสีไว้แล้ว สินทรัพย์ในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้”

สำหรับปี 2560 รายได้จากธุรกิจสังกะสีจะลดลงเหลือเพียง 60-70% ของปีนี้เท่านั้น โดยมีปริมาณการส่งมอบสังกะสีเหลือเพียง 3 หมื่นตัน

Thailand Web Stat