จีนขอสิทธิริมทางรถไฟ
"อาคม" ปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขฝ่ายจีน ยื่นขอสิทธิบริหาร 2 แนวข้างทางรถไฟไทย-จีน พ่วงลงทุนสถานี พร้อมสั่งลุยรางคู่7เส้น
"อาคม" ปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขฝ่ายจีน ยื่นขอสิทธิบริหาร 2 แนวข้างทางรถไฟไทย-จีน พ่วงลงทุนสถานี พร้อมสั่งลุยรางคู่7เส้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยระหว่างการสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ที่ จ.ขอนแก่น โดยยอมรับว่า เมื่อเร็วๆ นี้ฝ่ายจีนได้ยื่นเงื่อนไขต่อฝ่ายไทยว่า หากฝ่ายไทยต้องการให้ฝ่ายจีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอยนครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอยมาบตาพุด ตั้งแต่การลงทุนก่อสร้างรางรถไฟไปจนถึงร่วมทุนในการเดินรถ ฝ่ายจีนต้องการได้สิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ตลอดแนว 2 ข้างทางรถไฟ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยยืนยันว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอของฝ่ายจีนได้ และการที่จีนขอสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ 2 ข้างทางรถไฟดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเจรจาโครงการนี้
"ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายไทยและจีนได้มีการหารือร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ ฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายจีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพิ่ม จากเดิมที่จะร่วมลงทุนเฉพาะการเดินรถเท่านั้น เป็นให้ฝ่ายจีนเข้ามาร่วมลงทุนตั้งแต่การก่อสร้างทางรถไฟไปเลย แต่ฝ่ายจีนระบุว่าโครงการนี้อยู่ในประเทศไทย หากจะให้จีนลงทุนมากขึ้นจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่ม เช่น จีนขอสิทธิในการบริหารพื้นที่ตลอดแนว 2 ข้างทางรถไฟ รวมถึงการดำเนินการในแต่ละสถานีด้วย" นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ประมาณกลางเดือน มี.ค.นี้ ฝ่ายไทยและจีนจะเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีน โดยจะตกลงสัดส่วนการร่วมลงทุนในบริษัทดังกล่าวให้ชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะลงทุนเท่าใด ส่วนมูลค่าโครงการขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องรอความเห็นจากบริษัทที่ปรึกษาของฝ่ายไทยก่อน
"การศึกษากรอบวงเงินลงทุนจะ ไม่ล่าช้าจนทำให้โครงการชะงัก ทุกอย่างจะยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คือ ต้องสรุปรายละเอียดการลงทุนและเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ในขณะที่เส้นทางรถไฟไทย-จีน จะทำให้ไทยเชื่อมโยงระบบรางผ่านลาวไปถึงจีน ซึ่งช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า กระจายความเจริญ และสร้างรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวที่รถไฟวิ่งผ่าน" นายอาคม กล่าว
นายอาคม ระบุว่า การพัฒนาโครงการไฟไทย-จีน จะเดินหน้าควบคู่กับการลงทุนรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง 993 กิโลเมตร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งตอบโจทย์ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร