ชี้ชะตา2แหล่งก๊าซ
ลุ้น กพช.เคาะแนวทางบริหาร 2 แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุเดือน พ.ค.นี้ แหล่งสงขลาหยุดผลิต 3 แท่น
ลุ้น กพช.เคาะแนวทางบริหาร 2 แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุเดือน พ.ค.นี้ แหล่งสงขลาหยุดผลิต 3 แท่น
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังจะเสนอแนวทางบริหารจัดการแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัญญาลงในปี 2565-2566 ได้แก่ แหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ซึ่งผลิตได้ถึง 320 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต)/วัน และแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต ที่ผลิตก๊าซรวมกันได้ประมาณ 885 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 32,480 บาร์เรล/วัน ซึ่งต้องใช้หลุมผลิตกว่า 440 หลุม จากแท่นหลุมผลิต 32 แท่น ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาตัดสินใจในเดือน พ.ค. 2559
นายวีระศักดิ์ ชี้แจงว่า ในหลักการจะเสนอรูปแบบการบริหารแหล่งสัมปทานที่หมดอายุลงให้พิจารณาใน 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบสัมปทาน 2.ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และ 3.ระบบจ้างผลิต
ทั้งนี้ การนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กพช.เพื่อต้องการทราบนโยบายที่ชัดเจนในการเลือกแนวทางการบริหารแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุลง หลังจากนั้นกรมเชื้อเพลิงจึงจะไปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องได้ข้อสรุปก่อน 5 ปี ที่สัมปทานจะหมดอายุลง เพื่อให้มีเวลาในการ เตรียมพร้อมสำหรับการลงทุน
"ขณะนี้ทางกรมเชื้อเพลิงฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสียของรูปแบบการบริหารทั้ง 3 แนวทาง ซึ่งหากเป็นระบบพีเอสซีจะต้องมีขั้นตอนการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนที่จะกำหนดเป็นเงื่อนไข ขณะที่ระบบสัมปทาน ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนปฏิบัติตาม ส่วนระยะเวลานั้น ก็ต้องรอ นโยบายว่าจะให้เวลากี่ปีจึงจะเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ 10 ปี และเปิดให้ต่ออายุได้อีก หรือจะเปิดให้บริหารแหล่งปิโตรเลียมจนกว่าปริมาณสำรองจะหมด" นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ธุรกิจขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมได้รับผลกระทบแล้ว โดยขณะนี้ บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ผู้บริหารสัมปทานแหล่งสงขลา ได้หยุดการผลิตน้ำมันชั่วคราวไปแล้ว 2 แท่นผลิต จากทั้งหมด 5 แท่นผลิต และมีแผนที่จะหยุดเพิ่มอีก 1 แท่น ส่งผลให้กำลังการผลิตหายไปกว่า 2,000 บาร์เรล/วัน เหลือแค่ 6,000 บาร์เรล/วัน จากที่เคยมีกำลังผลิตสูงสุด 1.2 หมื่นบาร์เรล/วัน ทำให้ปริมาณสำรองลดลง โดยขณะนี้ประเมินว่าปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยจะใช้ได้ต่ออีกเพียง 5 ปีเท่านั้น
สำหรับแหล่งสงขลานั้น ในแต่ละปี ผู้ผลิตและสำรวจมีการจ่ายค่าภาคหลวงแร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 28 แห่ง ปีละประมาณ 250 ล้านบาท
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงแผนการบริหารจัดก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ว่า มีอยู่ 4 แนวทาง คือ 1.การชะลอการเติบโตของความต้องการใช้ก๊าซให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) 2.รักษาระดับการผลิตก๊าซเพื่อให้การผลิตก๊าซจากอ่าวไทยมีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยมีแผนลดปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งอ่าวไทย ที่ไม่ผ่าน โรงแยกก๊าซเพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซฯ อ่าวไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอีกส่วนจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาแทน
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะลดก๊าซจากอ่าวไทยลง 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน โดยจะเป็นก๊าซส่วนที่เรียกเกินจากสัญญาซื้อขายไว้ โดยจะเริ่มลดการใช้ก๊าซจากอ่าวไทย ปี 2560 ลง 60-80 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 3 สตางค์/หน่วย
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนสัมปทาน 2 แหล่งที่หมดอายุลง มาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตโดยทำสัญญากับเจ้าเดิม 5 ปีหลังหมดสัมปทาน เพื่อให้รัฐสามารถส่งบริษัทพลังงานแห่งชาติที่เป็นของรัฐ 100% เข้าไปควบคุมดูแลในฐานะเจ้าของในระบบแบ่งปันผลผลิต