ตั้งบริษัทร่วมทุนไฮสปีด
รฟท.ชงผลศึกษารถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน,กรุงเทพ-ระยอง เสนอตั้งบริษัทร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบเดินรถ-เดินรถ
รฟท.ชงผลศึกษารถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน,กรุงเทพ-ระยอง เสนอตั้งบริษัทร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบเดินรถ-เดินรถ
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา รฟท.ได้จัดส่งผลศึกษาความเหมาะสมและแนวทางลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2 เส้นทาง คือ เส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน 211 กิโลเมตร 9.46 หมื่นล้านบาท และเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง 193 กิโลเมตร 1.52 แสนล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว จากนั้นจะเสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ต่อไป
สำหรับรูปแบบการลงทุนรถไฟความเร็วสูงทั้งสองเส้นทาง รฟท.ได้เสนอให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง รฟท.และบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลในแต่ละเส้นทาง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนการร่วมลงทุน โดยบริษัทดังกล่าวจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเดินรถ และการเดินรถ
“รูปแบบการลงทุนตามผลการศึกษานั้น รฟท.เสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อลงทุนโครงสร้าง
พื้นฐาน และ รฟท.ได้ขอเข้าร่วมบริหารการเดินรถร่วมกับภาคเอกชนด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาคณะกรรมการพีพีพีว่าจะเห็นชอบตามรูปแบบที่ รฟท.นำเสนอหรือไม่ หรือจะนำเสนอวิธีใหม่ที่เห็นว่าเหมาะสมกว่า” นายวุฒิชาติ กล่าว
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า หากคณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบแนวทางการร่วมทุนพัฒนารถไฟความเร็วสูง รฟท.จะแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 พิจารณาแนวทางการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน โดย รฟท.จะเร่งรัดให้มีการเปิดประมูลทั้งสองโครงการเป็นการทั่วไปให้ได้ภายในปีนี้
รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าในแผนลงทุน PPP Fast Track
นอกจากนี้ รฟท.จะเสนอให้บอร์ดพีพีพีพิจารณาอนุมัติแนวทางการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ รฟท.จะเสนอรายละเอียดการลงทุนรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางให้บอร์ดพิจารณา ได้แก่ เส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 326 กิโลเมตร 7.7 หมื่นล้านบาท และเส้นบ้านไผ่-นครพนม 347 กิโลเมตร 6 หมื่นล้านบาท หากบอร์ด รฟท.มีมติอนุมัติ รฟท.จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
ด้านโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กิโลเมตร 9,400 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 6 โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกนั้น บอร์ด รฟท.ได้มีมติอนุมัติโครงการไปแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอโครงการให้ ครม.อนุมัติ
นายวุฒิชาติ ยังระบุว่า รฟท.จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาให้ รฟท.เป็นผู้เดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน เป็นระยะเวลา 5 ปี จากที่ก่อนหน้านี้ คนร.มีมติให้ รฟท.หาเอกชนมาร่วมทุนในการเดินรถ