การใช้นอมินีในการทำธุรกิจ
โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์
โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับปานามา เปเปอร์ส การใช้นอมินีไปลงทุนในต่างประเทศ จัดตั้งบริษัทถือหุ้นแทน ทำนิติกรรมต่างๆ แทนในต่างประเทศ เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก ทำให้ผู้อ่านหลายท่านสอบถามมาเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้าหรือการใช้บริการในทางธุรกิจ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ซื้ออาจไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เช่น อาจเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างหรืออาจเคยเป็นบุคคลที่เคยติดต่อซื้อขายกันมาก่อน จนทำให้คู่สัญญาหลงเชื่อจึงยอมทำนิติกรรมด้วย มีปัญหาว่านอมินีหรือตัวแทนที่ติดต่อซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นจะผูกพันตัวการหรือผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ทนายคลายทุกข์จึงได้ไปค้นคว้าข้อกฎหมายและตัวอย่างคดีที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างกันโดยนอมินี ตัวแทนหรือลูกจ้างมานำเสนอผู้อ่านเป็นรายคดีดังนี้
คดีแรก เคยติดต่อว่าจ้างกันมาก่อน
จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ นางสาว ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ยังตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อน ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548)
คดีที่สอง การติดต่อผ่านนายหน้า
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำสืบและอ้างส่งเอกสารหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นไปตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีโนตรีพับลิก และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รับรองความถูกต้อง จึงเป็นการมอบอำนาจถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องจากจำเลย โดยติดต่อผ่านบริษัท อ. นายหน้าของโจทก์ที่ประเทศไต้หวัน และบริษัท อ. ติดต่อจำเลยผ่านบริษัท ซ. ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวัน บริษัท ซ. มีหนังสือยืนยันการขายไปถึงโจทก์โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณและราคาสินค้าตรงตามรายการปริมาณและราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้า ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปให้โจทก์ โจทก์และบริษัท ซ. ได้ติดต่อกันทางโทรพิมพ์ กล่าวข้อความเกี่ยวข้องกับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยตกลงเข้าทำสัญญา กับทั้งผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคือจำเลย และการที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย ฝ่ายจำเลยก็ได้รับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ และส่งสินค้าให้โจทก์แล้วก็ได้แจ้งยอดหนี้ให้โจทก์ทราบโดยตรง พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าบริษัท ซ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2534)
คดีที่สาม พนักงานขายเสนอขายสินค้าแทนบริษัท
การที่พนักงานขายเสนอขายสินค้าของโจทก์แก่จำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโจทก์โดยปริยายและการที่พนักงานขายสินค้าของโจทก์รับรองกับจำเลยว่าถ้าสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์ไม่สามารถใช้ผลิตสินค้าได้ยอมให้คืนสินค้าและยอมคืนเช็คพิพาทให้จำเลยจึงย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการให้ต้องยอมรับผลในข้อตกลงที่ได้ทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 โจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2539)
คดีที่สี่ เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีประโยชน์ร่วมกัน
จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542)
คดีที่ห้า ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อเป็นผู้ลงนามแทนบริษัท
การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขาย
เม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ยอมรับรู้ให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2543)
แนวโน้มคำตัดสินของศาลถึงแม้จะใช้นอมินี ก็ต้องร่วมรับผิด (ฎีกาที่ 8555/2558)