ลงทุนแหลมฉบังแลกสัมปทาน60ปี
เอกชนขอลงทุนขยายแหลมฉบังเฟส 3 ทั้ง 100% รวม 8.6 หมื่นล้าน แลกเงื่อนไขได้สัมปทาน 60 ปี
เอกชนขอลงทุนขยายแหลมฉบังเฟส 3 ทั้ง 100% รวม 8.6 หมื่นล้าน แลกเงื่อนไขได้สัมปทาน 60 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการท่าเรือฯ มีแผนจะเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) พิจารณาในช่วงกลางปีนี้
“การหารือครั้งนี้เอกชนที่เข้าร่วมหารือซึ่งประกอบด้วยหลายบริษัท เช่น บริษัท โกลบอล อินเตอร์ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ บริษัท สหไทย และบริษัท โหงวฮก ได้เสนอขอลงทุนโครงการนี้ทั้งหมด คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 8.3 หมื่นล้านบาท และได้เสนอเงื่อนไข 2-3 ข้อแลกกับการเข้ามาลงทุน เช่น ขอสัมปทานในการบริการท่าเรือยาวขึ้นเป็น 60 ปี ซึ่งรองนายกฯ รับข้อเสนอเอกชนไว้และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะให้เอกชนทำได้หรือไม่” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการท่าเรือฯ ได้จัดทำผลการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบ่งเป็นภาครัฐลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท และเอกชนลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และหากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ จะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560
นายอาคม ระบุว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้ 11 ล้านทีอียู/ปี ขณะนี้รองรับการขนส่งสินค้าได้เพิ่มอีก 3 ล้านทีอียู หากลงทุนท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าได้อีก 7 ล้านทีอียู และรองรับการจอดเรือขนส่งรถยนต์หรือเรือโรโร่ (RoRo) ได้ด้วย ปัจจุบันไทยมีตัวเลขการส่งออกรถยนต์ผ่านทางเรือเป็นอันดับ 4 ของโลก
“การพัฒนาท่าเรือเฟสที่ 3 จะยากกว่าเฟสอื่นเพราะต้องมีการขุดร่องน้ำลึก 18-20 เมตร มีการก่อสร้างเกาะป้องกันคลื่น มีท่าขนส่งรถโดยเฉพาะ จึงใช้เงินลงทุนสูงใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี และนี่เป็นโครงการที่เราต้องทำ ถ้าไม่ทำจะเสียโอกาสมากเพราะแหลมฉบังอยู่ในที่ตั้งที่ดีมากในอาเซียน สามารถรับการขนส่งสินค้าจากเพื่อนบ้านได้ ตอนนี้คู่แข่งของแหลมฉบังคือท่าเรือเวียดนามตะวันออก ซึ่งเขายังพัฒนาไม่ดี ทำให้สินค้าจากทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนามยังมาใช้ท่าเรือแหลมฉบัง และนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีมอบมา คือ แหลมฉบังจะต้องเป็นท่าเรือที่ไม่ได้ใช้บริการเฉพาะประเทศ แต่เป็นท่าเรือที่เรือขนาดใหญ่เข้ามาจอดมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียงสิงคโปร์ที่รับได้” นายอาคม กล่าว
ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เกิดจากการที่เอกชนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อขอลงทุนขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ทั้งหมด
“ตอนนี้โครงการยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่การที่ภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนเองทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดีในการลดภาระของภาครัฐ” ร.อ.สุทธินันท์ กล่าว