posttoday

โรงไฟฟ้าขยะ SUPER จอมทรัพย์ ยัน เทคโนโลยีต้องดีที่สุด

02 พฤษภาคม 2559

เวลาพูดถึง “โรงไฟฟ้าขยะ” หรือ โรงเผาขยะ สิ่งแรกที่มักจะคิดถึง คือ มลภาวะ ทั้งกลิ่นเหม็น เขม่าควัน น้ำเสีย และสารพิษอีกหลายชนิด

เวลาพูดถึง “โรงไฟฟ้าขยะ” หรือ โรงเผาขยะ สิ่งแรกที่มักจะคิดถึง คือ มลภาวะ ทั้งกลิ่นเหม็น เขม่าควัน น้ำเสีย และสารพิษอีกหลายชนิด

แต่ถ้าไปเยือน ARIAKE INCINETION PLANT กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะลบภาพเหล่านั้นไปเกือบหมด เพราะแม้จะเดินอยู่ในตัวโรงงาน แต่ได้กลิ่นจางๆ เท่านั้น และจากรายงานสิ่งแวดล้อมปี 2558 ของโรงเผาขยะอาริอาเกะ จะเห็นว่าสารพิษที่โรงงานแห่งนี้ปล่อยออกมานั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานค่อนข้างมาก ทั้งที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 หรือ 22 ปีแล้ว

โรงเผาขยะอาริอาเกะ เป็น 1 ใน 19 โรงเผาขยะของ Clean Association of TOKYO23 ซึ่งบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของเขต 23 เขตในกรุงโตเกียว เพื่อจัดการขยะมูลฝอยของกรุงโตเกียว มีเตาเผา 2 เตา โดยใช้เทคโนโลยีของ Mitsubishi Martin สามารถเผาขยะได้ 400 ตัน/วัน และเป็นโรงเผาขยะแห่งเดียวในโตเกียวที่ใช้ระบบท่อดูดขยะร่วมกับรถขนขยะ

อากิระ คาวาซากิ หัวหน้าโรงเผาขยะอาริอาเกะ ยอมรับว่า การใช้ระบบท่อดูดขยะมีต้นทุนสูงกว่าการใช้รถขนขยะ เพราะใช้เงินลงทุนสูง แต่ระบบท่อจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าและช่วย
ลดปัญหาการจราจร

“หน้าที่หลักของโรงงานคือลดจำนวนขยะ แต่ความร้อนที่ได้จากการเผาขยะก็นำมาใช้เป็นพลังงานไอน้ำ ทำน้ำอุ่น ผลิตไฟฟ้าได้ 5,600 กิโลวัตต์/ชม. โดยน้ำอุ่นที่ได้จะส่งไปตามครัวเรือนและอาคารใกล้เคียง รวมทั้งสระว่ายน้ำ ขณะที่เถ้าที่เหลือจากการเผาจะใช้ทำอิฐบล็อกและใช้ในการก่อสร้าง” หัวหน้าโรงเผาขยะอาริอาเกะ กล่าว

แม้ว่าไฟฟ้าจะเป็นผลพลอยได้จากการเผาขยะ แต่ในงบประมาณเบื้องต้นปี 2558 ของ TOKYO23 จะพบว่ามีรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าขายไฟรวมกัน 2.72 หมื่นล้านเยน คิดเป็น 38.1% ของรายได้ทั้งหมด 7.14 หมื่นล้านเยน

หลังจากการพาสื่อมวลชนเยี่ยมชม ARIAKE INCINETION PLANT ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบของโรงไฟฟ้าขยะ ที่ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 ปีนี้

จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ที่มีอยู่ 3 บริษัท ได้แก่ มิตซูบิชิ ฮิตาชิ และโคเวนตา ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีสุดในปัจจุบัน

“โรงไฟฟ้าขยะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพราะเกี่ยวกับความร้อน ทำให้มีความเสื่อมมาก และถ้าของที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานจะต้องซ่อมบำรุงมากกว่า มีปัญหามากกว่า เสียเงินมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องใช้ของดี และคนมักเข้าใจผิดว่า โรงไฟฟ้าขยะเป็นการหมัก แต่ของเราสะอาด” จอมทรัพย์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะแห่งแรก SUPER ที่จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 นี้ จะเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 10 เมกะวัตต์ ใน จ.ปราจีนบุรี-สระแก้ว ซึ่งคำนวณแล้วว่ามีปริมาณขยะเพียงพอ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 12-14 เดือน และใช้เวลาประมาณ 6-8 ปี จึงจะคุ้มทุน

จากนั้นในไตรมาส 3-4 จึงจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1,500 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) เนื่องจากต้องใช้เตาขนาดใหญ่กว่าขยะอุตสาหกรรม

“มองผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไว้มากกว่า 18% เนื่องจากปัจจุบันได้ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงมาก เพราะธนาคารมองว่า เรามีรายได้จากโรงไฟฟ้าอยู่แล้วทำให้ไม่มีความเสี่ยง แต่ถ้าทำ
โรงไฟฟ้าขยะโดยที่ไม่มีรายได้อื่น ธนาคารจะมองว่ามีความเสี่ยง” จอมทรัพย์ กล่าว

จอมทรัพย์ตั้งเป้าหมายที่จะมีโรงไฟฟ้าขยะ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ค่าไฟฟ้าประมาณ 55 ล้านบาท/เมกะวัตต์/ปี

“ขณะที่พลังงานไอน้ำที่ได้จากการเผาขยะ คาดว่าในอนาคตจะนำกลับมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนปั่นไฟในโรงงาน แทนที่จะขายเป็นไอน้ำให้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะเราไม่อยากให้มีโรงงานที่ใช้ไอน้ำมาพึ่งเรา” จอมทรัพย์ กล่าว

จอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะของ SUPER มองว่า เป็นการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรม และหากประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการลดผลกระทบที่ขยะมีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำใต้ดิน

คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “โรงไฟฟ้าขยะ” ในมือของ SUPER จะสามารถสร้างรายได้ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ และจะควบคุมมลภาวะได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากทำได้จริง โรงไฟฟ้าขยะของ SUPER จะได้ทั้งเงินและ “กล่อง”