ยุค 'ทุเรียน-มังคุด' เฟื่องฟู
ชัยวัฒน์ ปริ่มผล เจ้าของสวนอำไพ ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด สวนผลไม้ชั้นนำของตราดที่ผลิตและส่งออก
โดย...จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์
ชัยวัฒน์ ปริ่มผล เจ้าของสวนอำไพ ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด สวนผลไม้ชั้นนำของตราดที่ผลิตและส่งออกต่างประเทศ ระบุว่า ตลาดผลไม้ของตราดและในจังหวัดภาคตะวันออก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสามารถส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะประเทศจีนที่รับซื้อจำนวนไม่จำกัด โดยเฉพาะทุเรียน และมังคุด และพ่อค้าจีนได้เข้ามาซื้อผลไม้ในภาคตะวันออกมาหลายปีแล้ว
“ปัจจุบันผลไม้ของตราดมีพ่อค้าชาวจีนลงมาตั้งล้งรับซื้อโดยตรงและโดยอ้อม ด้วยการให้ทุนไปรับซื้อเพื่อส่งเข้าจีนอีกครั้ง ซึ่งมีก้อนเงินส่งมาให้ทำให้มีเงินหมุนเวียนในตลาดผลไม้ของตราดจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านบาทในแต่ละปี
“โดยเฉพาะทุเรียนมีความต้องการสูง ทำให้ราคาผลไม้ของตราดราคาไม่ตกต่ำลงเหมือนทุกปี ทั้งที่มีความต้องการสูงและผลผลิตมีน้อย นอกจากนี้ทางสหกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของตราดที่รับซื้อทุเรียนทุกขนาด เพื่อแกะผลผลิตมาแช่แข็งและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงบางส่วนแปรรูปขายในประเทศ ทำให้ตลาดทุเรียนยังมีความต้องการต่อเนื่อง”
พ่อค้าชาวจีนรายหนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำสัญญาซื้อขายทุเรียนจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อแปรรูปและส่งออก จ.ตราด มูลค่าถึง 200 ล้านบาท เปิดเผยว่า การมาทำสัญญาซื้อทุเรียนในตราดกับสหกรณ์แปรรูปและส่งออก ตราดมีทุเรียนสำหรับการส่งออกจำนวนมาก แต่ก็ต้องคัดคุณภาพที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมามีการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลางแล้วได้ทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พ่อค้ารายนี้ กล่าวว่า หากไม่ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพก็จะไปซื้อทุเรียนในเวียดนามด้วย เพราะทุเรียนที่เวียดนามมีคุณภาพและรสชาติดี มีการตัดทุเรียนขนาดแก่พอดี แต่อย่างไรก็ตามทุเรียนในเวียดนามมีปริมาณน้อย จึงต้องมาซื้อที่ตราดผ่านทางสหกรณ์การเกษตรฯ ที่ช่วยทำหน้าที่คัดคุณภาพได้ดีกว่า
พ่อค้าชาวจีน ย้ำว่า ชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ของไทยโดยเฉพาะทุเรียนมาก รวมทั้งมังคุดและลำไย สำหรับเส้นทางการส่งออกของผลไม้ไทยสู่ประเทศจีนนั้น สามารถเดินทางได้ 2 ช่องทาง คือ เส้นทางบกจะขนส่งผ่านไปยังจุดผ่านแดนถาวรในหลายจุดทั้งมุกดาหารและนครพนม เพื่อเข้าไปยังเวียดนามตอนเหนือสู่ฮานอย และเข้าชายแดนจีนตอนใต้ทางสู่ซูโจว หนานหนิง และกว่างโจว และเข้าไปทางเมืองคุนหมิง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของผลไม้ไทย การเดินทางโดยรถยนต์จะใช้เวลา 3-4 วันเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท/ตู้คอนเทนเนอร์
อีกเส้นทางจะลงเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เดินทางผ่านประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเข้าจีนที่ท่าเรือกว่างโจว ใช้ระยะเวลาเดินทาง 5-7 วัน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8 หมื่นบาท/ตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทที่ส่งออกรายใหญ่ที่นำเข้าผลไม้ไปจีน ประกอบด้วย บริษัท เอเวอร์กรีน บริษัท เมอร์ค บริษัท โอโอซีแอล และบริษัท ไทฮง ซึ่งเป็นรายใหญ่