ข้อควรระวัง ในการร่วมธุรกิจกับบุคคลอื่น
โดย...เดชา กิตติวิทยนันท์
โดย...เดชา กิตติวิทยนันท์
สัปดาห์ที่แล้วมีชาวต่างชาติมาปรึกษาคดีความเกี่ยวกับการร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนซึ่งเป็นคนไทย แต่มีปัญหาขัดแย้งทางธุรกิจกันจนทำให้เป็นคดีความทั้งทางแพ่งและทางอาญาหลายคดีจนต้องหยุดกิจการ ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาในการร่วมลงทุนกับบุคคลอื่น ทนายคลายทุกข์ขอให้คำแนะนำนักลงทุนในการร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นเป็นรายประเด็นดังนี้
1.การหาผู้ร่วมลงทุนหรือหุ้นส่วน ควรมีข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นส่วนให้ครบถ้วน เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำธุรกิจ ประวัติการฉ้อโกงหรือความประพฤติในทางที่ไม่ดี เพราะถ้าท่านไปร่วมมือหรือจับมือกับนักธุรกิจที่เป็นคนคดโกง แต่ท่านไม่ทราบก่อนตัดสินใจร่วมลงทุนตั้งแต่ต้น มาทราบภายหลัง ความเสียหายจะตามมามากมายเพราะคนโกงทำได้ทุกอย่างยกเว้นทำดี เช่น การปกปิดความจริง การทำเอกสารปลอม การกินค่าหัวคิว และการโกหกทุกเรื่องที่ทำให้ท่านเสียหาย ส่วนใหญ่นักธุรกิจที่มาลงทุนในประเทศไทยมักจะว่าจ้างนักสืบเอกชนหรือสำนักงานกฎหมายหาข้อมูลหุ้นส่วนที่เป็นคนไทยให้ครบถ้วนก่อน จึงจะนัดเจรจาทำการค้ากัน
2.ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย การจะทำธุรกิจร่วมกับบุคคลอื่น ท่านจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด จะต้องรู้ว่าการเป็นหุ้นส่วนนั้นสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 มีสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงนำหุ้นมาลงทุนร่วมกัน อาจเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้
2.2 ต้องมีการกระทำกิจการร่วมกัน ไม่ใช่ลงเงินอย่างเดียว
2.3 มีความประสงค์ที่จะแบ่งกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจหรือกิจการร่วมกัน หมายถึงร่วมหัวจมท้าย ยอมรับผลขาดทุนและยอมรับผลกำไรที่จะเกิดจากการทำธุรกิจร่วมกัน
2.4 ต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน สำหรับหุ้นส่วนสามัญ ยกเว้นบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ค่าหุ้นไม่ครบเท่านั้น
3.การทำธุรกิจร่วมกัน ควรจะมีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นต่างหากไว้ว่า ใครมีหน้าที่อะไรบ้าง ใครมีสิทธิอะไรบ้าง เป็นข้อตกลงระหว่างกันไว้ เพื่อให้ง่ายในการดำเนินคดีในภายหลังหากมีการคดโกงกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำธุรกิจร่วมกัน
4.การทำธุรกิจร่วมกันระหว่างหญิงกับชาย สิ่งที่เป็นปัญหามากในการทำธุรกิจคือ หุ้นส่วนผู้ชายมักไปได้เสียเป็นสามีภริยากับหุ้นส่วนผู้หญิง เมื่อเป็นสามีภริยากันก็จะทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยพูดคุยกันไว้ไม่สามารถบังคับได้ เช่น มีการนำเงินของหุ้นส่วนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง เป็นต้น เมื่อจะดำเนินคดีตามกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะแยกไม่ออกระหว่างเรื่องธุรกิจกับเรื่องส่วนตัว รวมถึงเรื่องภายในครอบครัว ทำให้กิจการเสียหายได้โดยไม่ยาก ซึ่งมีคดีที่ผมรับผิดชอบหลายคดีในลักษณะนี้
5.รายรับรายจ่ายในการทำธุรกิจร่วมกันนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก คดีพิพาทระหว่างหุ้นส่วนด้วยกัน มีปัญหาอยู่สองเรื่อง คือ เรื่องเงินกับเรื่องลูกค้า กล่าวคือ หุ้นส่วนรับเงินแล้วไม่เอาเข้าบริษัทเอาไปเข้าบัญชีส่วนตัวของหุ้นส่วน ส่วนเรื่องลูกค้าก็มักจะมีการแย่งลูกค้ากัน และไปตั้งห้างใหม่หรือตั้งบริษัทใหม่ แย่งลูกค้าของบริษัทไปเป็นลูกค้าของตัวเอง หรือที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น ข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกันจะต้องเขียนหรือระบุไว้ให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเงินและเรื่องลูกค้า เพื่อไม่ให้ต้องมีกรณีพิพาทในอนาคต
6.ทรัพย์สินทางปัญญาที่แต่ละฝ่ายนำมาลงทุนหรือยอมอนุญาตให้ใช้ชั่วคราวในระหว่างเป็นหุ้นส่วนกัน เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ควรจะกำหนดให้ชัดแจ้งว่าจะนำมาลงทุนกันอย่างไร ขอบเขตในการใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด เพื่อไม่ต้องทะเลาะกันในวันข้างหน้า
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง
บริษัทจำกัด
มาตรา 1096 อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ