บริษัทกลางฯเปิดเคลมสุขภาพ
บริษัท กลางฯ เปิดบริการอี-เคลมใหม่ ใครมีประกันพีเอ สุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่าย
บริษัท กลางฯ เปิดบริการอี-เคลมใหม่ ใครมีประกันพีเอ สุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่าย
นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย.ก.ค.นี้ บริษัท กลางฯ จะเปิดตัวบริการใหม่ ให้ทางโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบสิทธิประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) และประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ นอกเหนือจากสิทธิประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ประสบภัย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินที่เกินจากสิทธิ พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิต 6 แห่ง แสดงความสนใจที่จะเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับบริษัท กลางฯ แล้ว
"หลักการ คือ เมื่อผู้ประสบภัยจากรถเข้ารับการรักษา หากค่ารักษาเกินสิทธิ พ.ร.บ.ทางโรงพยาบาลก็จะดูต่อไปว่า ผู้บาดเจ็บรายนั้นมีสิทธิค่ารักษาจากประกันพีเอและสุขภาพหรือไม่ ถ้ามีก็ทำการวางบิลผ่านบริษัท กลางฯ ได้เลย ไม่ต้องไปเก็บเงินกับผู้บาดเจ็บอีก" นายนพดล กล่าว
ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมีกรมธรรม์พีเอและสุขภาพรวมกันประมาณ 10 ล้านกรมธรรม์ ในขณะที่อุตสาหกรรมประกันชีวิต มีผู้ซื้อกรมธรรม์ประมาณ 30% ซึ่งมีบางส่วนที่ซื้อประกันอุบัติเหตุและสุขภาพด้วย หากเข้ามาเชื่อมต่อระบบอี-เคลมของบริษัท กลางฯ จะทำให้ โรงพยาบาลใช้แบบฟอร์มเดียวกันในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล และยังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้รับบริการสินไหมที่รวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทประกันหลายแห่งจะมีการให้บริการสินไหมออนไลน์กับทางโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ระบบการทำงานจะต่างกัน
"ปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลที่ใช้ระบบบริการอี-เคลมของบริษัท กลางฯ เพื่อบริการลูกค้า พ.ร.บ.มี 2,200 แห่ง บริษัทประกันวินาศภัย 39 แห่ง เครือข่ายรับแจ้งเหตุกว่า 3,000 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมการดูแลผู้ประสบภัยจาก พ.ร.บ. 90% โดยปีที่ผ่านมามีการเคลม พ.ร.บ. 3.6 แสนครั้ง และในช่วงเทศกาลวันหยุดสามารถให้บริการสินไหมได้ภายใน 24 ชั่วโมง" นายนพดล กล่าว
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ภายในปี 2560 จะสามารถขยายบริการอี-เคลมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เพื่อให้บริการแก่ผู้ซื้อประกันภัยรถข้ามแดน และผู้ที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
"การขยายบริการอี-เคลม สู่ประกันพีเอและประกันสุขภาพ นอกเหนือจากประกัน พ.ร.บ. จะทำให้ครอบคลุม ค่าสินไหมทดแทนที่ธุรกิจประกันภัยจ่ายในแต่ละปีได้ถึง 75% เพราะจากเบี้ยรับรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นเบี้ยประกันรถยนต์ถึง 1.2 แสนล้านบาท หรือ 60% และมีเบี้ยสุขภาพ กับเบี้ยอุบัติเหตุส่วนบุคคลรวมกันประมาณ 15% จะทำให้การจ่ายสินไหมค่ารักษาพยาบาลทำได้เร็วและประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินสดล่วงหน้า โดย คปภ.พร้อมสนับสนุนระบบ อี-เคลมเต็มที่ และออกประกาศรับรองมาตรฐานให้บริการสินไหมผ่านอี-เคลมอีกด้วย" นายอานนท์ กล่าว