สินเชื่อเพื่อคนเกษียณ

08 มิถุนายน 2559

โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์

โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์

สินเชื่อเพื่อคนเกษียณ ผมต้องขออธิบายจากสินเชื่อบ้านน่าจะเข้าใจง่ายกว่า เพราะเงื่อนไขคือต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง สินเชื่อบ้านทุกคนคงเข้าใจดีว่าคืออะไร กล่าวคือคนที่อยากจะมีบ้านก็ไปขอกู้ที่สถาบันการเงิน ทางสถาบันการเงินก็จะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของท่านว่าสามารถหรือไม่ ท่านก็จะได้เงินมาจ่ายให้ทางโครงการ และสามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ จากนั้นก็ผ่อนแต่ละเดือนกับสถาบันการเงิน เมื่อผ่อนหมดบ้านก็เป็นของท่าน

กรณีแรกคือยังไม่มีบ้าน อีกกรณีหนึ่งคือมีบ้านอยู่แล้ว และเป็นบ้านที่ปลอดภาระหนี้สิน แต่อยากได้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจหรือใช้จ่ายส่วนบุคคลก็แล้วแต่ ก็จะนำบ้านหลังนั้นไปเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งเราเรียกว่า Home Equity แต่กรณีนี้การที่จะนำบ้านที่ปลอดภาระไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทางสถาบันการเงินก็ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของท่านด้วย ไม่ใช่ว่าเอาบ้านไปให้แล้วได้เงินมาเลยเหมือนเวลาเราเอาของไปจำนำ

ดังนั้น ทั้งสองกรณีที่จะขอกู้เงินกับสถาบันการเงินก็จะต้องถูกพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ถ้าอายุยังน้อย ก็จะกู้ได้นานหน่อย ค่าผ่อนต่อเดือนก็จะไม่สูงมากนัก โอกาสในการกู้ผ่านก็สูง แต่ถ้าอายุเยอะแล้วการกู้ก็จะยากขึ้นโดยปริยาย เพราะคนเราส่วนใหญ่ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็จะเกษียณอายุประมาณ 60 ปี ดังนั้นหากท่านกู้สินเชื่อบ้านตอนอายุ 55 ปี หมายความว่าท่านสามารถกู้ได้ระยะเวลานานสุดแค่ 5 ปี เพราะสถาบันการเงินก็จะมองว่าหลังเกษียณท่านจะไม่มีรายได้ประจำ ค่าผ่อนต่อเดือนก็จะสูง หากรายได้ไม่ท่วมท้นจริงๆ คงกู้ผ่านยากครับ

นั้นคือที่มาของหัวข้อในวันนี้ครับ  สินเชื่อเพื่อคนเกษียณ (Senior Equity Reverse Mortgage) เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคอีกชนิดหนึ่งที่ต่างประเทศมี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีสถาบันการเงินไหนออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมา

ผมไม่รู้จะแปลเป็นชื่อภาษาไทยว่าอะไรดี แต่ชื่อก็บอกเป็นนัยๆ อยู่แล้วว่า Senior แสดงว่าเหมาะกับคนที่อายุเยอะ เช่น วัยเกษียณ เป็นต้น คำว่า Equity ก็คล้ายกับ Home Equity คือ เอาบ้านมาเปลี่ยนเป็นเงิน คำว่า Reverse ก็คือตรงกันข้ามหรือว่ากลับกัน เช่น เวลาเอาบ้านมาขอกู้เงิน คุณก็จะได้เงินก้อนไปเลยในวันแรก และทยอยผ่อนแต่ละเดือนกับทางสถาบันการเงินจนครบระยะเวลาสัญญา แต่พอเป็น Reverse Mortgage ก็คือไม่ได้เงินก้อนในวันแรก แต่รับเป็นเงินเดือนจนครบระยะเวลาสัญญา ดังนั้นคำอธิบาย (ของผมเองนะครับ) Senior Equity Reverse Mortgage ก็คือวงเงินเพื่อการ
ใช้จ่ายส่วนบุคคลหลังเกษียณอายุ โดยใช้หลักทรัพย์ที่อยู่อาศัยของตัวเองจำนองเป็นหลักประกัน

ใครจะมีโอกาสใช้บริการดังกล่าวบ้าง สมมตินะครับว่าผมเป็นคนโสด  อยู่ตัวคนเดียว ทำงานผ่อนบ้านมาตลอด จนถึงวัยเกษียณ เงินเก็บอาจจะไม่เยอะนัก พออายุ 60 ปี ไม่มีรายได้แล้ว เงินเก็บเหลือนิดหน่อย คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 70 ปี อีก 10 ปีข้างหน้าจะเอาเงินที่ไหนกินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ถ้าอย่างนั้นเอาบ้านที่ผ่อนหมดแล้วไปขอกู้กับสถาบันการเงิน เพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายส่วนบุคคลดีกว่า ซึ่งก็จะไม่สามารถขอกู้ได้เพราะผมไม่มีรายได้ประจำแล้ว แสดงว่าความสามารถในการชำระหนี้ของผมไม่ผ่าน ถ้าอย่างนั้นเอาไปขายและเอาเงินที่ได้ไปเช่าคอนโดอยู่ ถ้าขายบ้านได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าขายไม่ได้ หรือผมอาจจะไม่อยากขายบ้าน เพราะอยู่มานานและมีความผูกพันกับบ้านหลังนี้จะทำอย่างไร

Senior Equity Reverse Mortgage ก็จะมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ เป็นวงเงินเพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลหลังเกษียณอายุ โดยใช้หลักทรัพย์ที่อยู่อาศัยของตัวเองจำนองเป็นหลักประกัน ลักษณะของผลิตภัณฑ์คร่าวๆ ก็คือ สำหรับคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป (หรือเกษียณแล้ว) ไม่ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ ไม่ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 10 หรือ 15 ปี วงเงินกู้อาจจะต่ำกว่ากรณีสินเชื่อบ้านปกติหน่อย เพราะไม่ได้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ประมาณ 50-70% ของราคาประเมิน

สิทธิประโยชน์ของผู้กู้ คือ ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระหนี้รายเดือน (เงินต้น+ดอกเบี้ย) คืนให้สถาบันการเงิน ผู้กู้สามารถขอรับเงินกู้เป็นเงินก้อนบางส่วน หรือทยอยรับเป็นรายเดือน หรือเป็นวงเงินหมุนเวียน (OD) หรือใช้ทั้ง 3 แบบรวมกันก็ได้ ซึ่งผู้กู้เองก็จะมีเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังสามารถอยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวได้จนครบกำหนดอายุสัญญา

เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาบ้านหลังดังกล่าวจะเป็นของสถาบันการเงิน การครบกำหนดอายุสัญญาก็มีได้หลายกรณี คือ ครบกำหนดอายุตามที่ระบุในสัญญา หรือครบเมื่อผู้กู้เสียชีวิต หรือเมื่อผู้กู้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นนานเกินกว่า 12 เดือน (เพราะมิเช่นนั้นจะมีคนเอาบ้านที่ขายไม่ออกมาให้สถาบันการเงินเยอะมาก) หรือเมื่อหลักประกันเสื่อมค่าอย่างมาก เมื่อเทียบกับมูลหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน (เพราะมิเช่นนั้นผู้กู้ที่อยู่อาศัยจะไม่ดูแลบำรุงรักษาหลักประกันของสถาบันการเงินให้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากว่าเมื่อครบกำหนดจะเป็นของสถาบันการเงิน ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อบ้านปกติ ที่ท้ายสุดบ้านจะเป็นของผู้กู้)

เมื่อครบกำหนดชำระสถาบันการเงินจะเรียกคืนหลักประกันเพื่อขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชำระหนี้ (เงินต้น+ดอกเบี้ย) ที่เหลือก็จะคืนให้ลูกค้าหรือทายาทของผู้กู้จะขายเอง แล้วนำเงินมาชำระหนี้ก็ได้ หรือถ้าทายาทต้องการเก็บรักษาบ้านไว้หรืออยู่อาศัยต่อ สามารถรับภาระหนี้ดังกล่าว และผ่อนเป็นรายเดือนกับสถาบันการเงินต่อเช่นเดียวกับกรณีสินเชื่อบ้านปกติ ถ้าความสามารถในการชำระหนี้ของทายาทผ่าน ทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังสนุกๆ ครับ

Thailand Web Stat