เปิดร่วมทุน20ท่าเรือทิ้งร้าง
รมช.คมนาคม ชงที่ประชุม กบส. ปรับวิธีการให้เอกชนร่วมทุนบริหารท่าเรือร้างกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ
รมช.คมนาคม ชงที่ประชุม กบส. ปรับวิธีการให้เอกชนร่วมทุนบริหารท่าเรือร้างกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารการจัดการท่าเรือในประเทศไทย ได้หารือแนวทางแก้ท่าเทียบเรือทั่วประเทศที่รัฐบาลลงทุนก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีการบริหารจัดการและปล่อยทิ้งเป็นท่าเรือร้างมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าและกรมธนารักษ์ไปดำเนินการกำหนดวิธีการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนบริหารท่าเรือ ซึ่งจะปรับวิธีการคัดเลือกจากเดิมจะคัดเลือกเอกชนที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด เปลี่ยนเป็นให้ผู้ที่เสนออัตราจัดเก็บค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการท่าเรือต่ำสุด จะได้สิทธิเป็นผู้บริหารท่าเรือนั้นๆ
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ พิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 16 ก.ค.นี้
“จะต้องคิดและหาวิธีการที่จะให้แต่ละท่าเรือมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก จึงได้เสนอแนวทางออกว่า หลังก่อสร้างท่าเรือเสร็จแล้ว จะต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อมด้วย จากนั้นจะให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้จัดหาผู้บริหารท่าเรือ โดยเปิดให้เอกชนเข้าแข่งขันกันเสนอราคา รายใดเสนอค่าบริการกับผู้ใช้บริการในราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะประมูล ขณะที่รายได้ของท่าเรือส่วนหนึ่งจะให้กรมเจ้าท่านำเข้ากองทุนที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงและซ่อมบำรุงท่าเรือ รวมทั้งพัฒนาบุคลากร ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย หากเหลือจึงจะส่งเงินเข้าแผ่นดิน” นายออมสิน กล่าว
นายออมสิน ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างท่าเรือทั่วประเทศหลายแห่ง ทั้งท่าเรือโดยสาร ท่าเรือเพื่อการขนส่งและท่าเรือเฟอร์รี่ แต่ละแห่งใช้เงินลงทุนแห่งละ 100-200 ล้านบาท และบางแห่งอาจสูงกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 1,295 ล้านบาท และยังมีท่าเรือขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือศาลาลอย จ.พระนครศรีอยุธยา ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ ท่าเรือภูเก็ต ท่าเรือสงขลา และมีท่าเรือขนาดเล็กประมาณ 10-20 แห่ง ที่สร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จและต้องปล่อยทิ้งร้าง ในขณะที่ระเบียบทางราชการไม่จูงใจเอกชนเข้ามาบริหารมากนัก เนื่องจากระเบียบกำหนดให้เอกชนจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าเช่า โดยคิดจาก 50% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ต้องรับผิดชอบการซ่อมบำรุงท่าเรือทั้งหมด และสัญญาบริหารมีอายุเพียง 3-5 ปีเท่านั้น