posttoday

สรรพากรกระอักรายได้ทรุด เดือนพ.ค.ต่ำกว่าเป้า 20.8%

29 มิถุนายน 2559

สรรพากรจัดเก็บรายได้ทรุดหนัก เดือน พ.ค.ต่ำกว่าเป้า 20.8% หลังผู้ประกอบการปิโตรเลียมกำไรวูบ

สรรพากรจัดเก็บรายได้ทรุดหนัก เดือน พ.ค.ต่ำกว่าเป้า 20.8% หลังผู้ประกอบการปิโตรเลียมกำไรวูบ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 2558-พ.ค. 2559) จัดเก็บได้ 1,556,421 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 61,093 ล้านบาท หรือ 4.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13.4% สาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4จี) จำนวน 48,242 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 12,202 ล้านบาท และช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเบียร์ และภาษี สรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 7,351  6,947 และ 4,444 ล้านบาท

สำหรับเดือน พ.ค. 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 307,782 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,217 ล้านบาท หรือต่ำ 3.2% แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 37.1%

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่การจัดเก็บรายได้เดือน พ.ค.ต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเดือน พ.ค. ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 20.8% สูงสุดในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณที่ปกติกรมสรรพากรจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 2-4% และเคยต่ำกว่าเป้าสูงสุด 9% ในเดือน ก.พ. 2559 โดยเดือน พ.ค. กรมสรรพากรจัดก็บภาษีได้ 2.16 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5.68 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่กรมสรรพากรจัดต่ำกว่าเป้ามาจากรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,797 ล้านบาท หรือ 10.6% ภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย 1.17 หมื่นล้านบาท หรือ 11.6% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าเป้าหมาย 3.72 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรเพื่อชาระภาษีลดลง 49% และภาษีธุรกิจเฉพาะต่ำกว่าเป้าหมาย 1,279 ล้านบาท หรือ 27.4%

ด้านกรมสรรพาสามิตเก็บภาษีได้ 4.29 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 3,389 ล้านบาท หรือ 8.6% และกรมศุลกากรเก็บภาษีได้ 8,587 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,313 ล้านบาท หรือ 13.3%

ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวม 1.06 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9.49 หมื่นล้านบาท หรือ 8.2% กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้ 3.49 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.69 หมื่นล้านบาท หรือ 5.1% และกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ 7.52 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,661 ล้านบาท หรือ 5.8%

นอกจากนี้ รายได้ที่ลดต่ำลง มากประกอบกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้เงินคงคลังเดือน พ.ค.ลดลงเหลือ 184,148 ล้านบาท ถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ภายใน 5 เดือนเมื่อเทียบกับสิ้นเดือน ธ.ค. 2558 ที่มีเงินคงคลัง 386,497 ล้านบาท โดยรัฐบาลขาดดุลเงินสด 29,508 ล้านบาท เป็นการเกินดุลเงินงบประมาณ 46,794 ล้านบาท ในขณะที่ดุลเงินนอกงบประมาณขาดดุล 76,302 ล้านบาท ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลขาดดุลเงินสด 608,795 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล  366,761 ล้านบาท