posttoday

เลขประจำตัว 13 หลัก

13 กรกฎาคม 2559

โดย...สกล หาญสุทธิวารินทร์

โดย...สกล หาญสุทธิวารินทร์

เลขประจำตัวประชาชน แต่เดิมประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนสำหรับบุคคลที่เกิดในประเทศไทยหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต่อมาในปี 2527 กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการทะเบียนราษฎร ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กำหนดให้ประชาชนมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2527 โดยนายทะเบียนเป็นผู้ออกเลขให้

เลขแต่ละหลักหรือแต่ละกลุ่มมีรหัสความหมายตามที่นายทะเบียนกำหนดไว้

โดยสรุป คือ หลักที่ 1 หมายถึง ประเภทบุคคล : มี 8 ประเภท ส่วนใหญ่จะได้หมายเลข 3 คือ บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านตอนเริ่มโครงการให้เลข หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่เจ้าของเลขประจำตัวมีชื่อในทะเบียนบ้านขณะให้เลข หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 หมายถึงกลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักที่ 1 หรือหมายถึงเล่มที่ของสูจิบัตรแล้วแต่กรณี หลักที่ 11 และหลักที่ 12 หมายถึงลำดับของบุคคลในแต่ละประเภท หลักที่ 13 ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลข 12 หลักแรก

เลขทะเบียนนิติบุคคล สำหรับนิติบุคคล จำพวกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หอการค้า สมาคมการค้า ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่รับผิดชอบในการ
จดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่งก็ได้มีการกำหนดเลขทะเบียนด้วยนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ได้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นเลข 13 หลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเลขประจำตัวประชาชนที่มี 13 หลัก โดยในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเลขทะเบียนดังกล่าวได้เชิญผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมหารือด้วย

ทั้งนี้ เพื่อการใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลร่วมกัน เพื่อความสะดวกของประชาชน กล่าวคือกรมสรรพากรก็ได้มีการกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลด้วย ส่วนสำนักงานประกันสังคมก็มีการกำหนดเลขประจำตัวผู้ประกอบการเช่นกัน

ผลจากการหารือแก้ไขปรับปรุงการกำหนดเลขทะเบียนนิติบุคคล ในที่สุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หอการค้า สมาคมการค้าและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้ในปัจจุบัน ได้กำหนดเลขทะเบียนนิติบุคคลดังกล่าว ประกอบด้วยเลข 13 หลัก

แยกเป็นหกส่วนจากขวาไปซ้าย มีรหัสความหมาย คือ ส่วนที่หนึ่งมีหนึ่งหลัก กำหนดเป็นเลข 0 แสดงว่าเป็นการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วนที่สองมี 2 หลัก หมายถึงจังหวัดที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ เลขรหัสจังหวัดเป็นไปตามบัญชีท้ายประกาศ ส่วนที่สามมี 1 หลัก หมายถึงประเภทของการจดทะเบียน เช่นเลข 2 หมายถึงห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หมายเลข 5 หมายถึงบริษัทจำกัด หมายเลข 8 หมายถึงหอการค้า ส่วนที่สี่มี 3 หลัก หมายถึงเลขท้ายสามตัวของ พ.ศ. ที่จดทะเบียน ส่วนที่ห้ามี 5 หลัก หมายถึงลำดับของการจดทะเบียนแต่ละประเภท ส่วนที่หกมี 1 หลัก เป็นเลขตรวจสอบความถูกต้อง

เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรและผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้มีและใช้เลขประจำตัว ที่เรียกว่าเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมี 10 หลัก ต่อมากรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ : ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 11 ม.ค. 2555 มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2555 เป็นต้นไป

คือ บุคคลธรรมดาให้ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ส่วนผู้ที่ยังไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ใช้เลขประจำตัว 10 หลักที่กรมสรรพากรออกให้เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไปก่อน

หมายเลขประจำตัวของประกันสังคม ผู้ประกันตนที่มีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ใช้หมายเลขประจำตัวเป็นหมายเลขของผู้ประกันตน ส่วนสถานประกอบการที่มีหมายเลขทะเบียนนิติบุคคล ใช้หมายเลขนิติบุคคลเป็นหมายเลขประจำตัวสถานประกอบการ