สัญญาเช่าซื้อใหม่ได้ใช้ปี60 คุมทวงหนี้โหดดอกเบี้ยปรับไม่เกิน15%
สาระสำคัญ ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์
สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ...
สำเรียง เมฆเกรียงไกร ประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สคบ. กล่าวว่า จะนำความเห็นทุกฝ่ายมาแก้ไขร่างฯ ที่เหมาะสมต่อไป น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปี 2560 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมความพร้อมการจัดทำร่างสัญญาฉบับใหม่ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ การปรับปรุงร่างฯ ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ว่า ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีการเรียกเก็บค่าปรับในการชำระเงินค่าติดตามทวงถาม และค่าบริการอย่างอื่นที่ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาสูงเกินจริง
นอกจากนี้กรณีการนำรถออกไปขายหรือนำออกมาประมูลไม่ได้แจ้งให้ผู้บริโภครับทราบ และกว่า 99% จะประมูลขายได้ราคาต่ำมากและไม่คุ้มมูลหนี้ที่ค้าง จึงต้องมาเรียกหนี้จากผู้บริโภคอีก
สำหรับสาระสำคัญร่างฯ ฉบับนี้ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2557 มีการแก้ไขคำนิยามรถยนต์ส่วนบุคคล กฎหมายทวงถามหนี้ และกฎหมายห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนด รายละเอียดสำคัญที่จะต้องระบุในร่างสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้แก่
1.ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ต้องแสดงวิธีการคำนวณค่าทวงถามหนี้ และเบี้ยปรับให้ชัดเจน เพราะแต่ละบริษัทมีวิธีการคิดค่าปรับทวงหนี้ต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนว่ามีการเรียกเก็บในอัตราที่สูง
2.อัตราการคิดเบี้ยปรับไม่เกิน 15% และห้ามเขียนในข้อสัญญาที่จะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% จากเดิมผู้ประกอบธุรกิจคิดเบี้ยปรับได้ในอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีรายย่อย (เอ็มอาร์อาร์) ของธนาคารกรุงไทย บวก 10% ของจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ
ทั้งนี้ ปัจจุบันเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์สูงขึ้น และส่วนใหญ่ประชาชนไม่เข้าใจอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ดังนั้นเห็นควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจนเลย
3.ผู้ประกอบการไม่ควรนำค่างวดไปหักชำระค่าใช้จ่ายอื่นใด และควรแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้บริโภครับทราบก่อน 7 วัน โดยระบุให้ชัดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรก่อน เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคจ่ายค่างวดไปแต่บริษัทเอาไปหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ค้าง เช่น ค่าทวงถามหนี้ โดยไม่ได้นำเงินไปหักค่างวด สุดท้ายผู้บริโภคต้องผิดนัดชำระหนี้ค่างวด 3 งวด ทำให้โดนยึดรถไป
4.การขายรถโดยวิธีการประมูลหรือขายทอดตลาด ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันด้วยทุกครั้ง และถ้าเห็นว่าขายในราคาต่ำ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะซื้อรถคืน
5.ควรให้สิทธิผู้ค้ำประกันซื้อรถกลับคืน หลังจากที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ก่อนนำรถออกขายโดยวิธีการประมูลหรือขายทอดตลาด เนื่องจากผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดกรณีในส่วนที่ขาดตามสัญญาเช่าซื้อ
6.ผู้เช่าซื้อจะต้องระบุอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไม่ได้
7.ในสัญญาต้องระบุให้ชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ชำระ เช่น ค่าภาษีรถประจำปี ค่าปรับต่อภาษีล่าช้า ค่าเปลี่ยนเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง ค่าเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองรถ เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์การเช่าซื้อ ค่าซื้อแผ่นป้ายทะเบียนรถ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัย
ด้านสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เห็นด้วยกับค่าธรรมเนียมการทวงถามหนี้ไม่เกิน 15% แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดรายละเอียดในร่างสัญญามากเกินไป เพราะมี พ.ร.บ.ทวงถามหนี้กำหนดไว้แล้ว รวมทั้งไม่เห็นกับการประมูลขายทอดตลาดจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบ เพราะก่อนที่จะขายทอดตลาดบริษัทจะให้สิทธิลูกหนี้มาซื้อคืนก่อนอยู่แล้ว และไม่เห็นด้วยเรื่องไม่ให้หักเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าทวงถามหนี้ในค่างวดนั้นๆ
ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากเรื่องค่าทวงถามหนี้และดอกเบี้ยปรับที่แพงมาก บางรายต้องจ่ายค่าทวงถามหนี้สูงถึง 4,000 บาท และทุกๆ 3 เดือนจะเปลี่ยนบริษัทมาทวงถามหนี้ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการที่จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ และอัตราดอกเบี้ยปรับที่ชัดเจนในสัญญา