posttoday

โอนเงินไปต่างประเทศ เริ่มต้นไม่ง่าย แต่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดเดียว

30 กรกฎาคม 2559

ตามที่สัญญากันไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะพาไปรู้จักกับวิธีการโอนเงินไปต่างประเทศ ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่าการโอนด้วยวิธีการเดิมๆ แต่อาจจะยอมยุ่งยากมากขึ้นอีกนิดในช่วงการเปิดใช้บริการ

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ sawaleet@posttoday.com

ตามที่สัญญากันไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะพาไปรู้จักกับวิธีการโอนเงินไปต่างประเทศ ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่าการโอนด้วยวิธีการเดิมๆ แต่อาจจะยอมยุ่งยากมากขึ้นอีกนิดในช่วงการเปิดใช้บริการ แต่เมื่อได้ทดลองใช้แล้วอาจจะลืมการโอนแบบเดิมไปเลยก็ได้

สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการรับเงิน หรือส่งเงินระหว่างประเทศ อาจจะมองไม่เห็นว่า ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการโอนเงินระหว่างประเทศนั้นเป็น “ปัญหาระดับโลก”

เมื่อไตรมาส 4 ปี 2558 ธนาคารโลกให้ข้อมูลว่า การโอนเงินระหว่างประเทศมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.37% ซึ่งลดลงแล้วจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ระหว่าง 8-9% (แต่ถ้าเจาะลึกลงไปอีกจะเห็นว่า บางประเทศยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 16%)

ธนาคารโลกยังพบอีกว่า การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยบริการออนไลน์มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5.57% ของมูลค่าการโอนในแต่ละครั้ง

ในขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า ในปี 2559 จะมีการโอนเงินของแรงงานข้ามชาติประมาณ 6.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแบบเดิม 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าค่าธรรมเนียมถูกลงไปครึ่งหนึ่งจะช่วยให้มีรายได้ส่งกลับประเทศมากขึ้นอีกเกือบ 8 แสนล้านบาท

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องโอนเงินระหว่างประเทศเป็นประจำ น่าจะลองเปิดใจให้ “บริการออนไลน์” ดูบ้าง

โอนเงินไปต่างประเทศ เริ่มต้นไม่ง่าย แต่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดเดียว

 

โอนผ่านผู้ให้บริการชำระเงิน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของโลกลุกขึ้นมาให้บริการชำระเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Google ที่มีบริการ Google Wallet และ Facebook ที่ให้บริการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น Messenger (แบบว่า แชตไปโอนเงินไป)

แม้ว่าตอนนี้จะยังจำกัดวงการโอนอยู่เฉพาะในประเทศ ไม่สามารถโอนข้ามประเทศ เช่น Google Wallet ใช้บริการได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่ในอนาคตน่าจะสามารถโอนเงินข้ามประเทศได้ และคงอีกไม่นานเกินรอ คนไทยน่าจะได้ใช้บริการ

จริงๆ แล้วในตอนนี้มีผู้ให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ (แม้ว่าจะไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของเขาก็ตาม) เช่น PayPal

PayPal มีบริการ “ชำระเงินให้เพื่อนและสมาชิกในครอบครัว” เพียงแค่ใส่อีเมลของคนรับเงินลงไป คนรับเงินที่มีบัญชี PayPal ก็จะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที

นอกจากนี้ PayPal ยังเปิดบริการโอนเงินรูปแบบใหม่ในชื่อ PayPal.Me ซึ่งเป็น “ลิงค์ส่วนตัว” ของคนรับโอนที่สมัครใช้บริการเอาไว้ เช่น paypal.me/zaozilla ซึ่งเราสามารถใช้ลิงค์นี้ในการโอนเงินได้ทันที

ถ้าเป็นการโอนเงินในประเทศ โดยมียอดคงเหลือในบัญชี จะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน แต่ถ้าเป็นการโอนเงินไปต่างประเทศ แม้จะโอนด้วยเงินที่มีอยู่ในบัญชีก็จะมีค่าธรรมเนียม 0.3-3.3% ขึ้นอยู่กับประเทศผู้รับโอน

และถ้าเป็นการโอนโดยหักจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต จะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 4-6% (รายละเอียดตามตาราง) เช่น การโอนไปสหรัฐอเมริกา จะมีค่าธรรมเนียม 3.9% ของจำนวนเงินที่โอน บวกกับค่าธรรมเนียมคงที่อีกจำนวนหนึ่ง (เท่ากับ 11 บาท สำหรับการโอนด้วยสกุลเงินเงินบาท หรือถ้าโอนด้วยสกุลเงินเหรียญสหรัฐ จะอยู่ที่ 0.3 เหรียญสหรัฐ)

นอกจากนี้ หากเลือกหักเงินจากบัตรเครดิตอาจถูกบริษัทบัตรเครดิตเก็บค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้าอีกส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมนี้คนโอนจะกำหนดได้ว่า จะรับภาระค่าโอนไว้เอง หรือจะให้คนรับโอนรับผิดชอบเอง ถ้าเลือกวิธีหลังนี้คนรับโอนจะถูกหักจากเงินที่ได้รับ เพราะฉะนั้นถ้าเลือกวิธีนี้คนรับเงินอาจจะได้ไม่ครบตามจำนวนที่ตั้งใจ

ในกรณีที่เราไม่บัตรเครดิต ไม่มีบัตรเดบิต ไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าสตางค์ PayPal เลย ก็สามารถเติมเงินเข้าไปได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเติมเงินหลายราย

การเติมเงินเข้ากระเป๋าจะมีค่าใช้จ่าย 2 รายการ คือ ค่าบริการเติมเงินที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการเติมเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ PayPal อยู่ที่ 3.4% + ค่าธรรมเนียมคงที่

นอกจากนี้ การโอนเงินระหว่างประเทศยังมี “ค่าแปลงสกุลเงิน” อีกรายการหนึ่ง โดยจะบวกเพิ่มจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.5% และการนำเงินออกจาก PayPal อาจจะมีค่าธรรมเนียมหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในแต่ละประเทศ

โอนด้วยเงินดิจิทัล

ที่ผ่านมาเราอาจจะรู้จักสกุลเงินของแต่ละประเทศ เช่น เงินบาทไทย เหรียญสหรัฐ ปอนด์อังกฤษ แต่ในโลกยุคใหม่นี้ยังมีสกุลเงินอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้ถูกขีดเส้นแบ่งด้วยประเทศ เพราะเป็น “เงินดิจิทัล” ที่ใช้กันอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 700 สกุลเงิน

เงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสกุลหนึ่ง คือ บิตคอยน์ (Bitcoin)

โอนเงินไปต่างประเทศ เริ่มต้นไม่ง่าย แต่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดเดียว

 

สำหรับประเทศไทย ต้องบอกกันก่อนว่า ณ วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ยอมรับให้เงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินที่นำมาใช้แลกเปลี่ยนซื้อสินค้าในประเทศได้ แต่ไม่ได้มีข้อห้ามที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการโอนเงินระหว่างประเทศ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนการใช้ประโยชน์จากเงินดิจิทัลอาจจะอยู่ในวงจำกัด เพราะมีผู้ให้บริการอยู่ไม่กี่ราย แต่หลังจาก “FinTech” หรือบริการการเงินที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (ซึ่งเงินดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในนั้น) ได้รับการยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย ทำให้มีผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน Bitcoin ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เพิ่มมากขึ้น เช่น Coins.co.th และ Everex.co.th

แน่นอนว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของ FinTech คือ การให้บริการด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก การโอนเงินระหว่างประเทศด้วย Bitcoin ก็เช่นกัน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-3% ของมูลค่าการโอนในแต่ละครั้ง

การโอนเงินจะเริ่มจากการฝากเงิน หรือการซื้อ Bitcoin เข้าไปไว้ในกระเป๋า Bitcoin ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมในการซื้อ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะคิดค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป เช่น Coins.co.th จะเก็บค่าธรรมเนียมซื้ออยู่ที่ 1% ของมูลค่าที่ต้องการซื้อสำหรับทุกรายการ

เมื่อมี Bitcoin ในกระเป๋าแล้ว จึงสามารถโอนเงินได้ ซึ่งข้อดีที่สุดของการโอนเงินด้วยวิธีนี้ คือ ไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน และสามารถโอนด้วยจำนวนเงินเริ่มต้นที่เท่าไรก็ได้

ในขณะที่ผู้รับเงินหากต้องการเปลี่ยนจาก Bitcoin เป็นเงินสกุลท้องถิ่นก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมในการขาย ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้ให้บริการ ช่องทางการขาย เช่น ถ้าเลือกขาย Bitcoin จากกระเป๋าเงินที่ Coins.co.th เข้าบัญชีเงินฝากจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 12-35 บาท

แต่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่มั่นใจที่จะใช้บริการเงินดิจิทัล คือ ความผันผวนของราคา ซึ่งจริงๆ แล้วค่าเงินดิจิทัลมีขึ้นมีลงไม่ต่างจากค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยใน 1 เดือนที่ผ่านมา 1 Bitcoin ในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 610-700 เหรียญสหรัฐ หรือ 2.15-2.45 หมื่นบาท

ถ้าอ้างอิงจากราคาซื้อของ Coins.co.th เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 จะอยู่ที่ 22,835.91 บาท ขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 654.61 เหรียญสหรัฐ

หากเราเป็นกังวลเรื่องความผันผวนของราคา Bitcoin แนะนำว่า ไม่ควรจะทิ้งเงินไว้ในกระเป๋าเงินนานเกินไป เพราะฉะนั้นต้องการโอนเงินเมื่อไรค่อยโอนเงินไปซื้อ Bitcoin จากนั้นก็จัดการโอนเงินให้เรียบร้อย ฝั่งผู้รับโอนก็เช่นกัน เมื่อได้รับเงินโอนมาแล้วก็จัดการขาย Bitcoin และรับเงินเข้ามาเก็บในบัญชี

ถ้าเป็นบริการโอนเงินของ Everex.co.th ที่จะเริ่มต้นจากการให้บริการโอนเงินระหว่างไทย-เมียนมา ภายในไตรมาส 3 นี้ จะมีค่าบริการรวมประมาณ 3% ซึ่ง พิชาธร เอื้อชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด Everex บอกว่า แม้จะไม่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการโอนผ่านนายหน้า แต่ถูกกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารและผู้ให้บริการโอนเงินแบบเดิมแน่นอน

เริ่มต้น (อาจจะ) วุ่นวาย

เมื่อต้องการโอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมถูกลงก็ต้องยอมเสียเวลานิดหน่อยในช่วงเริ่มต้น เพราะทั้งผู้ส่งเงินและผู้รับเงินต้องมี “กระเป๋าเงินยี่ห้อเดียวกัน” ถ้าจะโอนด้วย PayPal ทั้งสองฝั่งจะต้องมีบัญชี PayPal หรือถ้าจะโอนกันด้วย Bitcoin ก็ต้องมีกระเป๋าเงินสำหรับ Bitcoin เช่นเดียวกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเงินแบบไหนจะมีวิธีการเริ่มต้นคล้ายๆ กัน คือ ต้องไปสมัคร หรือเปิดบัญชี และยืนยันตัวตนของเราก่อนจึงจะใช้บริการได้

การยืนยันตัวตนของ PayPal จะต้องยืนยันอีเมลและยืนยันเลขบัญชีเงินฝาก หลังจากนั้นเราแจ้งบัญชีเงินฝากไปก็รอให้ PayPal ฝากเงินเข้าบัญชีมา 2 ยอด (ยอดละไม่ถึง 1 บาท) เพื่อให้เรานำยืนยันว่า เราเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริง ซึ่งขั้นตอนนี้ทาง Paypal แจ้งว่า จะต้องรอประมาณ 1-2 วัน

การยืนยันตัวตนของ Coins.co.th เพื่อให้เริ่มใช้บริการได้ ต้องทำอย่างน้อยที่สุดคือ ยืนยันด้วยรูปถ่ายบัตรประชาชนและรูปถ่ายหน้าตรงคู่กับบัตรประชาชน เพื่อยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของบัตรตัวจริง

แต่เมื่อผ่านขั้นตอนการสมัครและยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นชีวิตก็ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง และยังจะได้รับเงินเร็วขึ้นด้วย... คุ้มค่าน่าทดลอง