โรงไฟฟ้ากระบี่ต้องรอEHIA
กฟผ.ยันการประกวดราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ต้องผ่าน EHIA และ ครม.ก่อน
กฟผ.ยันการประกวดราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ต้องผ่าน EHIA และ ครม.ก่อน
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดซองราคาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นกระบวนการคู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ขั้นตอนการพิจารณาการประกวดราคายังไม่แล้วเสร็จ ยังมีขั้นตอนการเจรจาในรายละเอียดกับกลุ่มผู้เสนอราคาเปรียบเทียบต่ำสุด โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน และ กฟผ.ได้ระบุในเงื่อนไขการออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent-LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่าจะออกเอกสารสนองรับราคาเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบรายงาน EHIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติ กฟผ.จะยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้
นายรัตนชัย กล่าวอีกว่า การประกวดราคาครั้งนี้ไม่ได้ละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากขั้นตอนการอนุมัติโครงการยังต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ (ไตรภาคี) และตามแผน PDP2015 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจากขั้นตอนของคณะกรรมการไตรภาคีดังกล่าว ณ ปัจจุบัน ทำให้คาดว่าโครงการจะต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยอีก 1 ปี
ทั้งนี้ การเปิดซองราคาวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดที่ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยผู้เสนออีกรายเสนอที่ราคา 3.49 หมื่นล้านบาท
สำหรับประเด็นที่กรีนพีซไทยแลนด์ ระบุว่า ราคาประมูลต่ำสุด 3.2 หมื่นล้านบาทนั้น สร้างความกังวลถึงประสิทธิภาพและการกำกับดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กฟผ. ขอชี้แจงว่า ราคาประมูลต่ำสุดจากการเปิดซองประกวดราคามาจากการประกวดราคาในระดับนานาชาติ (International Bidding) โดยเป็นเทคโนโลยีสะอาดที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว