สร้างเอกภาพในองค์กร งานหนักของบุญทักษ์ หวังเจริญ
...ชลลดา อิงศรีสว่าง
ดูเหมือนจะไม่นานที่ บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ข้ามห้วยมาโตที่ธนาคารทหารไทย ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของธนาคารทหารไทย แต่เวลาเกือบ 3 ปี เขาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับธนาคารทหารไทยแบบพลิกภาพลักษณ์จากธนาคารรุ่นเก่าให้ทันสมัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้แบรนด์ทีเอ็มบีเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าเป็นอันดับต้นๆ หลังจากที่ไม่เคยติด 1 ใน 5 ธนาคารในดวงใจของลูกค้ามานานแล้ว
ผลงานของเขาเข้าตาผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างไอเอ็นจี กรุ๊ป ที่มีการกำหนดโจทย์ที่ไม่ง่ายให้ แต่ปัญหาของธนาคารทหารไทยได้คลี่คลายไปมาก หลังจากที่กระทรวงการคลังยอมลดราคามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ลงมา เมื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมจำนวนแสนล้านบาทเพื่อให้ธนาคารมีกำไร และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เสียที หลังจากติดกับดักนี้มานานนับสิบปี
สิ่งที่ซีอีโอคนล่าสุดของธนาคารทหารไทยต้องเจอก็คือ ปัญหาเรื่องบุคลากรที่มาจากหลากหลายองค์กร ทั้งพนักงานธนาคารทหารไทยรุ่นดั้งเดิม ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และมีพนักงานจากธนาคาร กสิกรไทยบางส่วน ที่ตามบุญทักษ์มาร่วมงานที่ธนาคารทหารไทย
แทบจะเรียกได้ว่า ณ วันนี้ ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารที่มีใบปลิวและบัตรสนเท่ห์โจมตีกันเองระหว่างพนักงานและผู้บริหารมากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะความไม่สามัคคีของพนักงานนั่นเอง นำมาซึ่งความไม่เป็นเอกภาพองค์กร เมื่อภาพลักษณ์ภายนอกได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่ภาพลักษณ์ภายในกลับยังเปลี่ยนแปลงช้ามาก เนื่องจากพนักงานยังไม่เข้าใจและชินกับระบบการทำงานในรูปแบบเดิมๆ
บุญทักษ์ หวังเจริญ ซีอีโอธนาคารทหารไทย เปิดใจในเรื่องนี้ว่า การจัดทัพปรับโครงสร้างภายในเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งตอนเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ประกาศไปชัดเจนแล้วว่า ธนาคารได้ทุ่มเงิน 1,200 ล้านบาท มีโครงการให้เกษียณงานก่อนกำหนดไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 และก่อนจะมีโครงการนี้ก็มีการเน้นในเรื่องความพึงพอใจในงานของพนักงานมาก ได้มีการเปิดให้พนักงานมีสิทธิที่จะเลือกงานที่ตัวเองชอบหรือถนัด และเลือกที่จะอยู่หรือจะไปก็ได้ มีตำแหน่งงานใหม่ก็ให้คนในมีสิทธิสมัครก่อน ก่อนที่จะรับคนนอกเข้ามา
“เมื่อเปิดให้พนักงานย้ายงานได้ตามที่ต้องการ มีพนักงานสมัครใจขอย้ายงานมากถึง 300400 คน แต่มีปัญหาคือหัวหน้าเก่าไม่ยอมปล่อยให้ลูกน้องไป ผมก็ต้องเรียกหัวหน้ามาทำความเข้าใจว่า คุณต้องปล่อยให้พนักงานได้ทำงานที่รักและสมัครใจ ผมสัญญาว่าจะหาคนมาทดแทนให้ภายใน 45 วัน พนักงานตามสาขาได้โยกย้ายกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเดิมเป็นหลักร้อยคน ซึ่งเดิมหัวหน้าไม่ยินยอมให้ย้ายกลับในจังหวัดที่เป็นบ้านเกิด” บุญทักษ์ กล่าว
ในมุมมองของซีอีโอธนาคารทหารไทย มองเรื่องบุคลากรของธนาคารก็คือ พนักงานควรจะได้ทำงานที่ชอบและมีความสุขกับงานที่ทำและผลงานก็จะดี แต่ก็มีพนักงานบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับระบบใหม่ได้
“ผมใช้เวลา 24 ชั่วโมงไปกับปัญหาบุคลากรในองค์กรเพียงอย่างเดียวผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะว่า คนเป็นหัวใจหลักขององค์กร จัดให้มีการเทรนนิงและไม่ได้วัดผลงานพนักงานจากรายงานของหัวหน้าเสนอขึ้นมาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เช่น หัวหน้าอาจจะอคติกับลูกน้อง รักหรือเกลียดโดยไม่สมเหตุสมผล ก็ต้องหาวิธีวัดผลงานให้ยุติธรรม ในความเป็นจริงการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา” ซีอีโอธนาคารทหารไทย กล่าว
เมื่อให้ความสำคัญกับการจัดทัพในองค์กรอย่างมาก บุญทักษ์ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการฟังเสียงของคนในองค์กรมากขึ้น
“มีพนักงานส่งอีเมลถึงผมวันละ 2030 อีเมล ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระของงานที่ทำจนถึงเรื่องใหญ่ ซึ่งผมจะตอบอีเมลด้วยตัวผมเองกลับไปให้พนักงานที่ส่งมาทุกอัน ผมยินดีรับฟังพนักงานเสมอและผมทำแบบนี้มาสองปีแล้ว
อีเมลมาจากพนักงานทุกระดับ และเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานก็ไม่ได้ฟังความข้างเดียว เช่นพนักงานกล่าวหาหัวหน้าก็ต้องเรียกหัวหน้ามาชี้แจงว่ากรณีนี้เป็นอย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย บางครั้งเด็กเข้าใจผิดเอง บางครั้งก็ต้องดูตามข้อเท็จจริง หากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข จะปล่อยให้มีปัญหาต่อไปคงไม่ได้” บุญทักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าสิ่งที่เขาทุ่มเทให้กับการจัดทัพใหม่ให้กับองค์กรนั้น จะมีทั้งพนักงานที่ชอบและไม่ชอบ ปรับตัวได้และปรับตัวไม่ได้ ซึ่งการวัดผลด้วยระบบ KPI เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ ซึ่งซีอีโอคนนี้มองว่าการวัดผลงานหรือการกำหนดเป้าหมายงานให้พนักงานได้ทำนั้นจะต้องทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากจะทำให้ทุกคนสอบตก ต้องให้ทุกคนทำได้ จึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสุด
“ผมไม่สนใจว่ามาทำงานที่ธนาคารทหารไทยจะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่ผมดีใจก็คือผมสามารถสร้างธนาคารให้มีความแตกต่างจากธนาคารอื่นในมุมมองของผู้บริโภค ความเหนื่อยของผมหมดไปเมื่อทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น” บุญทักษ์ กล่าว
เกือบ 3 ปี ในการนั่งเก้าอี้ที่ธนาคารทหารไทย นับว่าบุญทักษ์ได้สร้างแบรนดิงให้ชื่อของธนาคารทหารไทยติดตลาดไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว และมีผลิตภัณฑ์ที่หวือหวาสร้างสีสันให้กับแวดวงการเงิน โดยมีไอเอ็นจีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ช่วยกันหาผลิตภัณฑ์แปลกใหม่มาเล่นในตลาด เมื่อภาพลักษณ์ภายนอกดูดีแล้ว ภาพลักษณ์ภายในก็ต้องดูดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นจากนี้ไปโจทย์ใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ก็คือ การพยายามสร้างความเป็นเอกภาพให้กับองค์กร และให้พนักงานได้ตระหนักถึงภารกิจที่จะต้องดำเนินต่อไป
ไม่น่าเชื่อว่าซีอีโอของธนาคารจะให้ใจกับการปรับโครงสร้างภายในองค์กรขนาดนี้ ยังมีเสียงร่ำร้อง ร้องเรียนไม่พึงพอใจของพนักงานผ่านทางบัตรสนเท่ห์ ฟอร์เวิร์ดเมล และพนักงานนำเรื่องไปปล่อยข่าวให้กับสื่อเพื่อให้ตีประเด็นเป็นเรื่องขึ้นมา
การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงภายในโครงสร้างองค์กรมีทุกแห่ง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้องค์กรดีขึ้นหรือเลวลง เป็นเรื่องที่คนในองค์กรจะต้องตระหนักเองว่าต้องการให้องค์กรซึ่งเป็นหม้อข้าวของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร จะทุบหม้อข้าวตัวเองหรือจะทำให้ดีขึ้นนั่นเป็นสิ่งที่ต้องเลือก ไม่เช่นนั้นความไม่เป็นเอกภาพจะคงอยู่ และการที่ธนาคารทหารไทยจะผงาดขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงก็จะไม่สามารถผ่านไปได้เลย หากคนในองค์กรไม่รู้รักสามัคคี