ศีลกับการบริหารงาน (1)
โดย...ทัธภร ธนาวริทธิ์
โดย...ทัธภร ธนาวริทธิ์
แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มักกล่าวว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่จะมีคนไทยสักกี่คนที่เข้าใจและได้ปฏิบัติตามศีล 5 ในการทำงาน โดยผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่าศีล 5 คือ ข้อห้ามในลำดับเบื้องต้นที่สังคมมนุษย์พึงปฏิบัติรักษาร่วมกัน เพื่อการไม่เบียดเบียนผู้อื่นตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยศีล 5 ข้อ ได้แก่
1.ปาณาติปาตา เวรมณี คือ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
2.อทินนาทานา เวรมณี คือ การเว้นขาดจากการลักทรัพย์
3.กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ การละการประพฤติผิดในกาม
4.มุสาวาทา เวรมณี คือ การเว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง
5.สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี คือ เว้นขาดจากการ
ดื่มน้ำเมา
การละเมิดศีลในข้อ 1-4 มีผลกระทบต่อความล้มเหลวในการทำงานในองค์การ เช่น การละเมิดปาณาติปาตา นอกจากการฆ่าแล้ว การทำร้ายผู้อื่นก็เป็นการกระทำที่ละเมิดศีลข้อนี้ หลายๆ คนที่ทำงานคงเข้าใจคำว่า “แทงข้างหลัง” เป็นอย่างดีเปลี่ยนเพียงแค่การใช้ศาสตราวุธทำร้ายกันเป็นวิธีการทำงานที่ทำร้ายกันแทน
การโยนความผิดให้กับผู้อื่น การสร้างหลักฐาน หรือใช้คำพูดทำร้ายผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อให้เจ้านายเห็นดีเห็นงามกับตนเอง จะส่งผลให้คนที่โดนทำร้าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนตั้งใจทำงาน เพราะคนที่ตั้งใจทำงานจะมุ่งเน้นผลงาน ไม่คิดถึงเรื่องไร้สาระ เพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน
แต่คนที่ไม่ทำงาน ไม่มีผลงานส่วนใหญ่ จะต้องคอยหาวิธีอื่นๆ ที่ทำให้ตนเป็นที่โดดเด่นในสายตาเจ้านาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ส่งผลให้คนทำงานดี ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือไม่มีการทำผลงานที่ดีออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนใหญ่เจ้านายก็มักจะเห็นดีเห็นงามกับคนเหล่านี้ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าว จะเป็นคนประเภทที่นำเสนอเก่ง พูดโน้มน้าวได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ทำงานจึงมีเวลาใกล้ชิดเจ้านาย ส่งผลให้องค์การมีแต่คนที่ไม่ทำงาน ไม่เก่งจริงขึ้นมาบริหาร นอกจากนี้ยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะไม่มีผลงานออกมา
ส่วนตัวอย่างของศีลข้อที่เหลือ ผู้เขียนจะขอยกไปกล่าวถึงในบทความสัปดาห์ถัดไป