สิ่งทอกัญชง‘ทรายทอง’ แฮนด์เมดหนึ่งเดียวในไทย
โดย...ชีวิน ศรัทธา
โดย...ชีวิน ศรัทธา
ยังไม่รู้ว่าอนาคตของกัญชานั้น จะถูกถอดออกจากยาเสพติดมาเป็นพืชสมุนไพรควบคุมหรือไม่ แต่สำหรับ “กัญชง” พืชซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกัญชา แต่ปริมาณสารเสพติดน้อยกว่า ได้รับการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งนำเส้นใยมาผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มจากเส้นใยกัญชง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ คือ ผลิตภัณฑ์ใยกัญชงแฮนด์เมด บ้านห้วยทราย ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักษ์โลก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยลดโลกร้อน ใส่ได้ทุกฤดูกาล ได้รับรางวัล 4 ดาว และของดี จ.เชียงใหม่
การผลิตของกลุ่มบ้านห้วยทราย ยังเป็นลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือนด้วยการทำมือ หรือแฮนด์เมดทุกขั้นตอน นวลศรี พร้อมใจ ประธานผู้ก่อกลุ่มตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 และริเริ่มผลิตสิ่งทอจากเส้นใยกัญชงตั้งแต่ปี 2544 จากสมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 10 กว่าคน จนปัจจุบันมีกว่า 100 คน ทั้งใน อ.แม่ริม และแม่แตง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อาทิ เสื้อ หมวก กระเป๋า กางเกง กระโปรง ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าห่ม และผ้าคลุมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย
ป้านวลศรี บอกว่า ใยกัญชงในอดีตเคยเป็นเครื่องนุ่งห่มของชาวม้ง ที่มีคุณสมบัติเหนียว นุ่ม สวมใส่แล้วจะช่วยกันหนาว พอช่วงหน้าร้อนก็ป้องกันแดดทำให้ไม่ร้อน ไม่ยับ ไม่ดูดกลิ่น ไม่ขึ้นรา ซักก็ได้ หรือจะไม่ซักก็ได้ เรียกว่าสวมใส่ได้ตลอดเวลา แต่การทำใยกัญชงมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เป็นเสื้อผ้านั้นยากลำบากมาก อีกทั้งสำหรับผู้ที่แพ้เส้นใยกัญชงจะมีอาการคันมาก
“เคยทดลองปลูกกัญชงที่หมู่บ้านมาแล้ว แต่เนื่องจากลำต้นไม่ได้เส้นใยที่มีคุณภาพ ทำให้ต้องซื้อจากแหล่งผลิตอื่นๆ มาเป็นเส้นใย ซึ่งทุกขั้นตอน ใช้แรงงานจากคนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงกระบวนการขาย มี 6 ขั้นตอนหลัก เริ่มต้นทำเป็นตัวใยให้เป็นด้ายเป็นม้วนใย ถัก ทอ ย้อม ซักตาก กรีด เย็บเป็นชุดแบบต่างๆ บรรจุและขาย โดยไม่มีเครื่องจักรเข้ามา จะใช้มือล้วนๆ ในการสรรสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา มีราคาตั้งแต่ 5 บาทไปจนถึงหลักหลายพันบาท ส่วนค่าแรงสมาชิกในกลุ่มก็แล้วแต่ชิ้นงาน ซึ่งผู้ทำเป็นผู้กำหนดรายได้ของตนเอง”
อย่างไรก็ตาม ป้านวลศรี กล้ารับรองว่า ผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง นับเป็นแฮนด์เมดจากธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งจะมีใครลอกเลียนแบบแต่ก็ไม่สามารถทำได้เหมือน ซึ่งมีบางจุดเคล็ดลับของการผลิตขึ้นมา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนจากธรรมชาติทั้งหมด แม้กระทั่งสีย้อมผ้าก็นำมาจากต้นไม้ภายในบ้าน อาทิ สีเขียวจากใบต้นสักทองสีออกเขียว ส่วนสีออกน้ำตาลเข้ม ได้จากต้นมะมื่น ภาษาเหนือ หรือกระบก หรือภาคอีสานเรียกว่าหมากบก นำมาใช้ย้อมสีของผ้าแบบธรรมชาติอย่างที่เห็น ทำให้ใยกัญชงจากธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ ทำให้ได้รับเชิญให้ไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาดหรือกาดนายกฯ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพฯ และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์