สนุก!เพิ่มเนื้อหาความรู้ ร่วมสกิลเลนดึงคนอยู่นาน
การใช้งานในโลกออนไลน์ของคนไทยนั้น ต้องยอมรับว่าการเสพสื่ออย่างข่าวบันเทิง เพลงและกีฬา ถือว่าได้รับความนิยมสูง
โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ
การใช้งานในโลกออนไลน์ของคนไทยนั้น ต้องยอมรับว่าการเสพสื่ออย่างข่าวบันเทิง เพลงและกีฬา ถือว่าได้รับความนิยมสูง แต่ปัจจุบันความนิยมในเรื่องของเนื้อหาหรือคอนเทนต์ตกแต่งบ้าน สุขภาพ และการศึกษา ก็เริ่มเป็นแนวโน้มหรือเทรนด์คอนเทนต์ที่มาแรงไม่แพ้กัน
กฤตธี มโนลีหกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สนุก ออนไลน์ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ สนุก! กล่าวว่า การบริโภคคอนเทนต์ในยุคดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนจากการใช้งานเว็บไซต์มาเป็นมือถือมากขึ้น หลังจากที่เพิ่มหมวดสุขภาพและที่อยู่อาศัยเข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่า คอนเทนต์เหล่านี้ได้ความนิยมมากขึ้น ทำให้สนุก! ได้หาพาร์ตเนอร์รายใหม่ด้านการเรียนออนไลน์เข้ามาเสริม
ขณะนี้สนุก! มีผู้ใช้งานทั้งในและนอกประเทศรวมกันกว่า 40 ล้านคน คนเข้าอ่านกว่า 800 ล้านเพจวิว การนำคอร์สเรียนเข้ามาในระบบนั้น จะมีกว่า 150 คอร์สและอัพเดทคอร์สเรียนใหม่ 10 คอร์ส/เดือน โดยเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับภาษา คอมพิวเตอร์ และการลงทุน เพราะเป็นหมวดหมู่ที่มีคนสนใจเรียนมากที่สุด
“เดิมมีคนเข้าอ่านในเว็บนาน 9 นาที การร่วมมือกับสกิลเลน (SkillLane) คาดว่าจะช่วยให้คนอยู่ในเว็บนานขึ้น เราคาดหวังคนเข้าใช้งานอย่างน้อย 2 ล้านเพจวิวเหมือนหมวดที่อยู่อาศัยและสุขภาพ”
กลยุทธ์ต่อไปของสนุก! คือจะดึงการตลาดแบบ O2O (Online to Offline) มาใช้มากขึ้น เพราะการเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดคือนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์และเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมแบบออฟไลน์ จะช่วยสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ให้แก่อนาคตได้
“ธุรกิจออนไลน์ยังคงต้องลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงให้คนในโลกออนไลน์มาใช้จ่ายให้เกิดรายได้ เช่น ขายโฆษณาหรือหาสปอนเซอร์ ซึ่งยังมีคนในโลกออนไลน์ไม่มากนักที่ยอมจ่ายเงินแต่ตัวเลขในส่วนนี้ก็มีแนวโน้มดีขึ้น”
ทางด้าน ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SkillLane (สกิลเลน) เว็บไซต์คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับคนทำงาน กล่าวว่า คอร์สเรียนส่วนใหญ่จะมุ่งให้บริการผ่านเดสก์ท็อปเป็นส่วนมาก เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวกขึ้น ในขณะที่การเข้าดูหลักสูตรหรือสมัครเรียนจะทำผ่านมือถือเป็นส่วนมาก
จากการเก็บข้อมูลของสกิลเลน พบว่า ปัญหาสำคัญของคนวัยทำงานที่ต้องการเรียนหนังสือหรือหลักสูตรพิเศษนั้น กว่า 94% ต้องการทักษะความรู้เพิ่มแต่ไม่มีเวลาเพียงพอในการเข้าเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม การใช้งานอีเลิร์นนิ่งของไทยระหว่างปี 2554-2559 โต 30% ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายด้านการศึกษาในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 7,100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น
1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559
ทั้งนี้ สกิลเลนเปิดให้บริการมาในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แต่มีอัตราการเติบโตมากถึง 300% ซึ่งในปีหน้าบริษัทมีแผนพัฒนาเรื่องของเนื้อหา ประสบการณ์ใช้งาน บททดสอบและประกาศนียบัตร เพื่อให้ครบวงจรด้านการศึกษามากขึ้น
“การเข้าใช้งานสกิลเลนนั้น มีค่าเฉลี่ยในการเข้าใช้งานเว็บอยู่ที่ 18 นาที/วัน ซึ่งหลังการร่วมมือคาดว่าจะมีผู้เข้าใช้งานเพิ่มขึ้น”
ค่าหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบนั้น จะมีทั้งแบบฟรีไปจนถึงค่าเรียนสูงสุด 9,500 บาท เฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ที่ 1,800 บาท/ทรานเซ็กชั่น ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าเรียนซ้ำผ่านวิดีโอกี่ครั้งก็ได้ ขณะนี้มีคนลงทะเบียนเรียนกว่า 8.5 หมื่นคนทั้งแบบหลักสูตรเรียนฟรีและเสียเงิน ด้านผู้สอนมีแล้วกว่า 200 คน หลักสูตรยอดนิยมคือ คอร์สสอนทำสติกเกอร์ไลน์, เรียนภาษาอังกฤษ และการลงทุน
สัดส่วนการเข้าใช้งานยังคงแบ่งเป็น กทม.และต่างจังหวัดอย่างละ 50% เพราะในต่างจังหวัดการเรียนในหลักสูตรแบบนี้ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง การเรียนแบบออนไลน์จึงได้รับความนิยมสูง และทางบริษัทจะมีการคัดเลือกหลักสูตรที่หลากหลายและร่วมสนับสนุนผู้สอนด้วยการทำสตูดิโอย่านสาทร เพื่อให้คนสอนที่ไม่มีความรู้ด้านโปรดักชั่นสามารถเข้ามาใช้งานได้ฟรี