ยึดเฟซบุ๊กขายสินค้าปลอม
"พาณิชย์" ระบุผู้ค้าสินค้าละเมิดเปลี่ยนวิธีขายผ่านตลาดนัด หันไปไลฟ์สดขายผ่านเฟซบุ๊กแทน หวังหลบเลี่ยงการจับกุม
"พาณิชย์" ระบุผู้ค้าสินค้าละเมิดเปลี่ยนวิธีขายผ่านตลาดนัด หันไปไลฟ์สดขายผ่านเฟซบุ๊กแทน หวังหลบเลี่ยงการจับกุม
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้า ละเมิดลิขสิทธิ์ได้หันไปใช้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านโปรแกรมวิดีโอถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย เพื่อ หลีกเลี่ยงการขายสินค้าตามแผงลอย ริมถนน ตลาดนัด หรือร้านค้าในห้าง สรรพสินค้า เพราะถูกกดดันอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ที่มีการเพิ่มความเข้มงวดในการจับกุม และยังถูกกดดันจากเจ้าของสถานที่ ซึ่งเข้มงวดมากขึ้นในการจำหน่ายสินค้าละเมิด ทำให้การขายในลักษณะโจ่งแจ้งทำได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบการขายสินค้าปลอมทางวิดีโอถ่ายทอดสด พ่อค้าแม่ค้าจะใช้โปรแกรมถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเฟซบุ๊กที่รู้กันกับกลุ่มแฟนเพจว่าเป็นเพจที่จำหน่ายสินค้าปลอม และมีสมาชิกติดตามเพจจำนวนหนึ่ง เมื่อจะเปิดขายสินค้าก็จะทำการ Live หรือไลฟ์สด นำสินค้ามาโชว์ด้านหลังกล้อง และพ่อค้าแม่ค้าก็จะแจ้งให้ลูกเพจทำการแชร์วิดีโอถ่ายทอดสด และใช้ของรางวัลมาล่อเพื่อให้คนแชร์เยอะๆ เช่น ตั้งคำถามง่ายๆ ให้ทาย และใครทายถูกก็จะแจกรางวัลให้ฟรีๆ แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องแชร์วิดีโอที่กำลังถ่ายทอดสดด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้จำนวนยอด ผู้เข้าชมระดับหนึ่ง พ่อค้าแม่ค้าก็จะ เริ่มนำสินค้ามาขาย โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมที่นำมาจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อต่างๆ ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า แว่นตา และผ้าพันคอ เป็นต้น โดยสินค้าเหล่านี้เป็นของปลอม แต่พ่อค้าแม่ค้าจะใช้เทคนิคการขาย โดยระบุว่าเป็นสินค้างานพรีเมียม (เกรด มิลเลอร์) คือสินค้าทุกอย่างเหมือนของแท้ แต่ราคาถูกกว่า
"ตัวอย่างเช่น กระเป๋าชาแนลราคาของแท้อยู่ที่ 1 แสนกว่าบาท จะมีการโฆษณาขายว่าสินค้าใบนี้ หากขายใน ร้านทั่วไปจะขายอยู่ที่ใบละ 7,000 บาท แต่ถ้าซื้อตอนนี้ราคาอยู่ที่ใบละ 3,000 บาท แต่มีส่วนลดให้อีกทันที 1,000 บาท และสินค้าที่จำหน่ายทุกอย่างมีกล่องให้ มีการ์ดใบรับประกัน และที่สำคัญมีใบเสร็จที่ พ่อค้าแม่ค้าระบุว่าออกจากช็อปจริงให้ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นใบเสร็จปลอมขึ้นมา" แหล่งข่าว เปิดเผย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อวางแนวทางการจัด การ ซึ่งจะเสนอไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊ก หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ช่วย ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ ดังกล่าว