ฟิทช์ชี้แบงก์ไทยปีหน้าเสี่ยงหนี้เสีย
ฟิทช์ประเมินแบงก์ไทย ปีหน้ายังเสี่ยงหนี้เอ็นพีแอล กลุ่มเอสเอ็มอีสินเชื่อรายย่อย
ฟิทช์ประเมินแบงก์ไทย ปีหน้ายังเสี่ยงหนี้เอ็นพีแอล กลุ่มเอสเอ็มอีสินเชื่อรายย่อย
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินแนวโน้มของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2560 น่าจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบากและยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้าน ผลประกอบการต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการ ผิดนัดชาระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ มุมมองดังกล่าว เป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์น่าจะปรับตัวอ่อนแอลงมาบ้าง แต่จะยังคงอยู่ในระดับปกติสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจได้รับการบรรเทาผลกระทบไปได้บ้างจากสัดส่วนการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยปัจจุบัน ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 127% และฟิทช์คาดว่าอัตราการผิดนัดชาระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อน่าจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2560
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงสามารถรักษาฐานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยของภาคธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 14.2% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการปรับตัวแย่ลงมากกว่าคาดการณ์ของภาวะอุตสาหกรรม
อนึ่ง ในส่วนของธนาคารรัฐ ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยฟิทช์มองว่า รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแต่ละธนาคารหากจำเป็น เนื่องจากธนาคารรัฐแต่ละแห่งมีบทบาทในเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมายจัดตั้งธนาคารรัฐแต่ละแห่ง