ธุรกิจจัดทริปเที่ยว หมู่บ้านพลังงานทดแทน
การท่องเที่ยว หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ที่ต่อยอดไปยังธุรกิจบริการอื่นๆ
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
การท่องเที่ยว หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ที่ต่อยอดไปยังธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงธุรกิจใหม่ “ผู้จัดการบริหารการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น” จากแนวคิดคนรุ่นใหม่ “ทีมปฏิบัติการต้นกล้าพลังงานทดแทน ลูกแม่เดียว” กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1 ใน 10 ทีม ที่เข้ารอบโครงการประกวด “ออมสิน สุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย” ปี 2559
สำหรับทีมดังกล่าว ประกอบด้วย พิชชาพร คำมี ประกายดาว ป้อมแดง และ พัณณิตา ดุจรัตนะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มองเห็นช่องทางการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) ที่สามารถเติบโตคู่ไปกับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจ (บิซิเนสโมเดล) การจัดแผนการท่องเที่ยว (ทริป) หมู่บ้านพลังงานทดแทน นำร่องแห่งแรกที่หมู่บ้านวังป้อง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ประกายดาว ตัวแทนทีม เล่าว่า แนวธุรกิจดังกล่าวเกิดจากการที่วิทยาลัยได้ริเริ่มการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานทดแทนต่างๆ อาทิ เตาพลังงานชีวมวล แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ในครัวเรือนชุมชนหมู่บ้านวังป้อง ซึ่งมีกว่า 380 ครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2554 หรือไม่ต่ำกว่า 5 ปีมาแล้ว
จากความต่อเนื่องของโครงการจนมาถึงปัจจุบัน ที่ทีมมองเห็นว่าน่าจะสามารถต่อยอดออกมาสู่การทำธุรกิจควบคู่ไปกับวิถีดั้งเดิมของชุมชน โดยที่แต่ละครัวเรือนจะมีรายได้เข้ามาเสริมเพิ่มขึ้นในอนาคต จากรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีจุดเด่น คือ หมู่บ้านพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันได้เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์เตาพลังงานชีวมวลในหมู่บ้านวังป้องไปแล้วไม่ต่ำกว่า 240 ตัว นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ อีก เช่น โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์ส่วนกลางที่ให้คนในชุมชนใช้ร่วมกันได้
สำหรับแผนธุรกิจที่ทางทีมวางไว้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ช่องทางรายได้ของชุมชน ที่จะมาจากการให้บริการที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ภายในหมู่บ้าน หรือที่พักจากบ้านดินที่ติดตั้งเครื่องใช้ภายในบ้านพลังงานทดแทนเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งหลัง ปัจจุบันมีอยู่ 6 หลัง รองรับผู้เข้าพักได้ราว 4 คน เป็นต้น พร้อมกับที่ครัวเรือนยังสามารถนำสินค้าท้องถิ่นหรือในชุมชนวิสาหกิจ โอท็อป เข้ามาจำหน่ายควบคู่กันไปด้วย
“ในเบื้องต้นสามารถจัดทริปท่องเที่ยวดังกล่าวได้ราว 30 คน/1 ทริป มีระยะเวลาพักผ่อนอยู่กับชุมชน หรือในบ้านดิน โรงแรมที่พักที่เข้าร่วมนานราว 3 วัน-1 สัปดาห์ คิดค่าใช้จ่ายต่อรายประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย” ประกายดาว เสริม
ในส่วนของช่องทางรายได้ที่ 2 เป็นการจำหน่ายพร้อมติดตั้งอุปกรณ์พลังงานทดแทนให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่สนใจ ซึ่งทางทีมจะทำตลาดในรูปแบบการขายแนวคิด (คอนเซ็ปต์) การสร้างหมู่บ้านพลังงานทดแทน ไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ที่แต่ละแห่งสามารถชูจุดขายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับแนวคิดหมู่บ้านประหยัดพลังงานได้ ซึ่งจากการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในครัวเรือนอย่างเตาพลังงานชีวมวล ยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้เกือบ 100% เมื่อเปรียบเทียบจากเดิมที่ครัวเรือนใช้เตาพลังงานก๊าซหุงต้มเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกเดือนละ 300 บาท/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม โครงการในเบื้องต้นถือเป็นแผนธุรกิจที่วางเอาไว้ในระยะยาว ด้วยหากจะสามารถดำเนินการออกมาสู่การทำตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะการติดตั้งอุปกรณ์พลังงานทดแทนต่างๆ คาดใช้งบประมาณราว 1.2 ล้านบาท ที่ปัจจุบันนอกจากได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการด้านพลังงานให้การสนับสนุนด้วย
โดยแนวคิดแผนธุรกิจดังกล่าว เพื่อหวังสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน