ดันไทยฮับเรือสำราญ
นายกฯ เร่งคลังหามาตรการดึงดูดการลงทุนหนุนไทยเป็นฮับเรือสำราญ ด้าน สศช.เล็งตั้งหน่วยวิจัยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายกฯ เร่งคลังหามาตรการดึงดูดการลงทุนหนุนไทยเป็นฮับเรือสำราญ ด้าน สศช.เล็งตั้งหน่วยวิจัยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่อุตสาหกรรมเรือสำราญ เรือยอชต์ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางเรือสำราญของอาเซียน (Marina Hub of ASEAN) ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ดึงดูดรายได้เข้าประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายเลขานุการในโครงการเพิ่มขีดความสามารถต่างๆ เช่น โครงการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และล่าสุดคือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีโครงการที่รัฐบาลตั้งใจจะให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก เรือ และอากาศ พร้อมกับมีมาตรการต่างๆ ออกมาดึงดูดการลงทุน
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศช.มีการเตรียมความพร้อมในองค์กรเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2559-2579) โดย สศช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ โดยเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน
สำหรับความคืบหน้ายุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีนั้น จะผ่านออกมาตามขั้นตอนทางกฎหมายพร้อมกับรัฐธรรมนูญในปี 2560 หลังจากนั้นจะมีการออกกฎหมายลูกในการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วันหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม สศช.จะมีการเตรียมความพร้อมการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานเพิ่มเติมจากภารกิจประจำที่ สศช.รับผิดชอบอยู่ โดยยุทธศาสตร์ชาติเป็นงานระยะยาวที่ต้องใช้การวางแผน การประสานงาน และการวิเคราะห์วิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาประเทศระยะยาว ส่วนการจะเพิ่มอัตราข้าราชการ หรือเพิ่มหน่วยงานภายในสำนักงาน เพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้นจะต้องมีการหารือกับรัฐบาลต่อไป
"ในสัปดาห์หน้า สศช.จะหารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) เกี่ยวกับการตั้งหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นหน่วยงานภายใน สศช. เช่นเดียวกับที่กระทรวง อื่นๆ มีหน่วยงานวิจัยที่เป็นคลังสมองในการทำงาน โดยหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจอาจเป็นหน่วยงานที่ดึงเอาภาคเอกชน หรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาทำงานร่วมกันได้" นายปรเมธี กล่าว
นายปรเมธี กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเป็นงานที่ สศช.มีความพร้อม แต่เมื่อต้องทำงานระยะยาวควบคู่กับการขับเคลื่อนงานต่างๆ เช่น งานปฏิรูปประเทศ จะต้องเพิ่มการวางแผนและการวิจัยเพื่อประเมินผลต่อไป
ภาพประกอบข่าว