วิชั่น 2030 ของลาว

20 มกราคม 2560

ระหว่างวันที่ 15-16 ม.ค. 2560 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “Lao-Thai Business Forum 2017” จัดที่โรงแรม “Landmark Mekong Riverside Hotel” (ตั้งริมฝั่งแม่น้ำโขง) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักธุรกิจลาวและไทยมาพบปะกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือและโอกาสการค้าและการลงทุนร่วมกันในระยะยาว

ระหว่างวันที่ 15-16 ม.ค. 2560 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “Lao-Thai Business Forum 2017” จัดที่โรงแรม “Landmark Mekong Riverside Hotel” (ตั้งริมฝั่งแม่น้ำโขง) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักธุรกิจลาวและไทยมาพบปะกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือและโอกาสการค้าและการลงทุนร่วมกันในระยะยาว

ในงานดังกล่าวมีการแบ่งธุรกิจที่จะประชุมร่วมกันออกเป็น 8 กลุ่มคือ โลจิสติกส์ การค้าชายแดน เกษตรกรรม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ท่องเที่ยว การเงินธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจไทยที่เข้าร่วมมีทั้งหมด 160 ท่าน และนักธุรกิจลาวจำนวน 50 ท่าน ที่น่าสนใจในงานก็คือ มีปาฐกถาของท่านนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว คือ ดร.ทองลุน สีสุลิด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน คือ ดร.สุพัน แก้วมีไซ รวมทั้งคำกล่าวของนักธุรกิจบริษัทใหญ่ๆ ของฝ่ายไทยอีกหลายท่าน

ผู้บริหารประเทศของ สปป.ลาวทั้งสองท่านได้พูดถึงประเด็น “การพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และความร่วมมือการค้าและการลงทุนกับประเทศไทย” ความท้าทายของ สปป.ลาวคือ การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ที่ผ่านมาดีขึ้นนั้น เป็นการเติบโตที่มาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไป เช่น แร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่หมด คือพลังงานน้ำเพื่อมาทำพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งออก รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนเมืองและชนบท

นอกจากนี้ ท่านทั้งสองได้พูดถึงสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกันนั้น ต้องมี “3 เปิด” คือ การเปิดใจ เมื่อมีปัญหาและประเด็นการค้าและการลงทุนระหว่างกันต้องคุยกัน การเปิดประตู คือ ภาษีและมิใช่ภาษี ต้องเปิด และสุดท้ายการ เปิดอุปสรรค คือ อุปสรรคทางการค้าและลงทุนต้องเอาออกไป และจากประเด็นท้าทายดังกล่าวข้างต้นทำให้ สปป.ลาว ได้กำหนดแผนและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในปี 2030 (พ.ศ. 2573)

สำหรับแผนฯ ระยะกลางและยาวของลาวนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 3 แผน คือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 8 (2559-2563)” “กลยุทธ์พัฒนา 10 ปี (2559-2568)” และ “วิสัยทัศน์ 2573 (Vision 2030)” หรือที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์มุทะลุ” หรือ “ยุทธศาสตร์เชิงรุก” ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนประเทศจาก “แลนด์ล็อก” เป็น “แลนด์ลิงก์” ทั้งสามแผนฯ นั้นมีเป้าหมายตรงกัน คือ ต้องการให้ประเทศลาวหลุดพ้นจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (ปี 2544 รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 319 เหรียญสหรัฐ และในปี 2558 รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 1,813 เหรียญสหรัฐ อันดับที่ 138 ของโลก ไทยอยู่ที่ 84 ของโลก 5,816 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี : ที่มา เวิลด์แบงก์)

โดยตั้งเป้าให้มีรายได้ต่อหัวของคนลาวเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากปัจจุบัน และต้องทำให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8 (ไอเอ็มเอฟคาดว่าอีก 10 ปี อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 7.5%) ต้องให้มีการลงทุนเป็น 30% ของจีดีพี รวมทั้งข้อตกลงการค้าและการลงทุนระดับประเทศกับเวียดนามและจีน นอกจากนี้ต้องผลักดันให้การใช้ประโยชน์จากเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น จากทั้ง 4 สะพานไทย-ลาว และสะพานพม่า-ลาว และที่กำลังสร้างสะพานไทย-ลาว อีก 2 แห่ง การพัฒนาคนของ สปป.ลาว โดยเฉพาะทักษะฝีมือแรงงาน

นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการพัฒนา SEZ ในลาว โดย SEZ ลาวนั้น เริ่มปี 2545 ที่สะหวันนะเขต (Savan-Seno SEZ) ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 SEZ ประกอบด้วย 2 สเปเชียล อีโคโนมิก โซน ที่มีพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นเฮกตาร์ และอีก 9 สเปซิฟิก อีโคโนมิก โซน ที่มีพื้นที่น้อยกว่า 1 หมื่นเฮกตาร์ โดยมีการนำประสบการณ์การพัฒนา SEZ ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย เวียดนามและกัมพูชามาเป็นข้อคิดเห็นในการพัฒนา SEZ เช่น เขตอุตสาหกรรมของเวียดนามที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่อยู่ที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ในขณะที่ SEZ กัมพูชา ตั้งในเมืองหลวง ชายแดนและท่าเรือ เป็นต้น

Thailand Web Stat