posttoday

ค่าใช้จ่ายคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (1)

27 มกราคม 2560

การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2559  จะเสียภาษีมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้พึงประเมิน การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จำนวนเงินได้สุทธิ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้บางกรณี

การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2559  จะเสียภาษีมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้พึงประเมิน การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จำนวนเงินได้สุทธิ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้บางกรณี

การหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 วิธี

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือที่เรียกกันว่า “หักเหมา” กฎหมายกำหนดให้หักคิดเป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินได้พึงประเมิน

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือที่เรียกกันว่า “หักจริง” กฎหมายกำหนดให้นำหลักเกณฑ์การหักรายจ่ายของบริษัท ฯลฯ โดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาอนุโลมใช้

เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร แบ่งออกเป็น 8 ประเภท เงินได้ ฯลฯ บางประเภทให้หักค่าใช้จ่ายเหมาวิธีเดียว เงินได้ ฯลฯ บางประเภทให้หักค่าใช้จ่ายจริง เงินได้ ฯลฯ บางประเภทให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือเลือกหักค่าใช้จ่ายจริง เงินได้ ฯลฯ บางประเภทไม่ให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ

การหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้

l เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง

ผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากนายจ้าง ฯลฯ เงินได้ ฯลฯ ประเภทนี้เป็นของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นมนุษย์เงินเดือน กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเหมาอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ ฯลฯ รวมแล้วหักได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท ไม่ว่าจะมีเงินเดือน ฯลฯ มากเท่าใดก็ตาม

l เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม ค่าจ้างจากการรับทำงานให้ ฯลฯ ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินได้ ฯลฯ ประเภทนี้ให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับจ้าง (มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้ ฯลฯ) พูดง่ายๆ ว่า งานเสร็จจึงจะจ่ายเงินค่าจ้างให้

กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเหมาอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ ฯลฯ รวมแล้วหักได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เช่นเดียวกับเงินได้ ฯลฯ ตามมาตรา 40 (1)

กรณีผู้มีเงินได้ ฯลฯ ตามมาตรา 40 (1) ด้วย จะต้องนำเงินได้ ฯลฯ ตามมาตรา 40 (1) รวมกับเงินได้ ฯลฯ ตามมาตรา 40 (2) แล้วจึงหักค่าใช้จ่ายเหมาอัตราร้อยละ 40 รวมแล้วหักได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท ไม่ใช่เงินได้ ฯลฯ แต่ละประเภทหักไม่เกิน 6 หมื่นบาท    

l เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น ฯลฯ กฎหมายกำหนดให้ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หักค่าใช้จ่ายเหมาอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ ฯลฯ รวมแล้วหักได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท สำหรับเงินได้ ฯลฯ รายการอื่น  กฎหมายไม่ให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ

l เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินปันผล ฯลฯ กฎหมายไม่ให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผลตอบแทนจากเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้สิทธิสำหรับเงินได้ ฯลฯ บางรายการที่ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด  ผู้มีเงินได้ ฯลฯ สามารถเลือกที่จะนำมารวมคำนวณยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ก็ได้

สำหรับการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ติดตามได้สัปดาห์หน้า

สวัสดีครับ