posttoday

ธุรกิจสุขภาพในไทยยังแกร่ง

10 กุมภาพันธ์ 2560

ทริส เรทติ้งให้มุมมองที่ดีต่อกลุ่มโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน

โดย...เจียรนัย อุตะมะ แปลและเรียบเรียง

ทริส เรทติ้ง มีมุมมองคงที่ต่อธุรกิจเพื่อสุขภาพ เพราะไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพของคนไทยในภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชีวิตในสังคมเมืองทำให้คนยอมจ่ายเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมไทยที่มีแนวโน้มเป็นสังคมผู้สูงอายุได้กระตุ้นความต้องการการรักษาและดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่นเดียวกันนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ยังมีอุปสรรคจากการเมืองในประเทศที่ยังไม่มั่นคง

ธุรกิจเพื่อสุขภาพมีอัตราเติบโตสูงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั้งจากรัฐและเอกชน โดยปี 2558 มีค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 743,944 ล้านบาท เทียบ 383,799 ล้านบาท ในปี 2549 โดยจำนวนนี้เป็นการใช้จ่ายจากภาครัฐ 51% ที่เหลือเป็นการใช้จ่ายของเอกชน จากการใช้จ่ายประกันสุขภาพ โดยจำนวนผู้เข้าระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น 4.8% ในช่วงปี 2550-2559 โดยล่าสุดปี 2559 มีผู้เข้าระบบประกันสังคม 14 ล้านคน หรือ 20% ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความตื่นตัวของคนที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง

ทั้งนี้ ทริสฯ ให้มุมมองที่ดีต่อกลุ่มโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 3 แห่ง ทั้งนี้บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ผู้ประกอบการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้นำโรงพยาบาลเอกชนในไทยและในอาเซียน ที่ให้บริการดูแลและรักษาสุขภาพของคนไทยและคนต่างชาติที่มีฐานะดี

ขณะที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ผู้ประกอบการกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มีโรงพยาบาลในเครือ 44 แห่ง โดยรู้จักกันดีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 5 แบรนด์ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ 20 แห่ง โรงพยาบาลสมิติเวช 5 แห่ง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง โรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง และโรงพยาบาลเปาโล 5 แห่ง นอกจากนั้นยังมีโรงพยาบาลอินเตอร์เนชั่นแนล 2 แห่ง ในกัมพูชา ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลรอยัล อินเตอร์เนชั่นแนล และยังคงมี 6 โรงพยาบาล ภายใต้แบรนด์ในประเทศ

BDMS มีโรงพยาบาลที่ให้บริการได้ในทุกระดับ รวมถึงให้บริการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 50 แห่ง ภายใน 1-2 ปีนี้

ขณะที่บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับกลางที่ให้บริการผู้ป่วยเงินสดและผู้ป่วยที่ใช้บริการประกันสังคม มีโรงพยาบาล 11 แห่ง และ 2 โพลีคลินิก ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 6 แห่ง โรงพยาบาลการุญเวช 4 แห่ง และศูนย์บริการสุขภาพโรงพยาบาลเกษมราษฎร์จะเน้นผู้ป่วยเงินสดและผู้ป่วยที่ใช้บริการประกันสังคม โรงพยาบาลการุญเวชให้บริการผู้ป่วยประกันสังคมเท่านั้น ส่วนศูนย์บริการสุขภาพจะให้บริการผู้ป่วยที่มีฐานะดีในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล

อัตรากำไรการดำเนินงานของกลุ่มโรงพยาบาลเหล่านี้ยังคงแข็งแกร่ง BH มีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 29.4% ของรายได้ในปี 2558 เป็น 31.4% ใน 9 เดือนแรกปี 2559 ทั้งนี้เนื่องมาจากค่าบริการและรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก

BDMS อัตรากำไรการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 21.1% ในปี 2558 เป็น 20.8% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 จากการเปิดโรงพยาบาลใหม่ โดยอัตรากำไรยังคงอยู่ที่ประมาณ 20-22% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

BCH มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2558 เป็น 26.6% ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ จากศูนย์บริการสุขภาพ ขณะที่ขาดทุนจากธุรกิจประกันสังคม

ธุรกิจด้านสุขภาพมีอัตราหนี้สินต่อทุน (บี/อี)ต่ำ โดย BH 9 เดือนแรกที่ผ่านมา มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนเท่ากับ 27% โดยมีแผนจะใช้งบลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2559-2562 ในระดับหนี้สินเงินกู้ที่ยังต่ำกว่า 30% โดยมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

BDMS มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินทำให้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนต่ำกว่า 40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทยังมีแผนขยายเครือข่ายโรงพยาบาลโดยลงทุนในศูนย์บริการสุขภาพ โดยจะเพิ่มเงินลงทุนประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าหนี้สินต่อทุนจะไม่ต่ำกว่า 45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

BCH มีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 24.1% ในปี 2554 เป็น 45.9% ในสิ้นเดือน ก.ย. 2559 ระดับหนี้สินคาดว่าจะลดลงในอนาคตจากการลงทุนที่ลดลงจะทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดย BCH วางแผนจะลงทุน 500-900 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า น้อยกว่าปี 2555-2558 ที่ใช้งบลงทุน 600-2,000 ล้านบาท