Income Fund เพราะรู้ว่า รายได้ประจำ สำคัญที่สุด
ถ้าคิดจะซื้อ Income Fund เพราะหวังว่าจะได้รายได้ประจำ อย่าดูแค่ชื่อกองทุน
โดย...โพสต์ทูเดย์ WEALTH
เหมือนอย่างที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เตือนไว้ว่า ถ้าคิดจะซื้อ Income Fund เพราะหวังว่าจะได้รายได้ประจำ อย่าดูแค่ชื่อกองทุน เพราะหลายกองทุนที่ชื่อกองทุนมีคำว่า “อินคัม” แต่ไม่ใช่ Income Fund
Income ≠ Fixed Income
อย่างแรกที่ต้องเข้าใจกันก่อนเลย คือ Income Fund ≠ Fixed Income Fund เป็นกองทุนคนละประเภทกัน เพราะ Fixed Income Fund คือ กองทุนตราสารหนี้
แม้ว่า Income Fund บางกองทุนจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ไม่ใช่ว่า Fixed Income Fund ทุกกองทุนจะเป็น Income Fund
เพราะฉะนั้นต้องระวังให้ดี
นอกจากนี้ กองทุนที่เป็น Income Fund เหมือนกัน ให้รายได้ประจำเหมือนกัน แต่อาจจะมีการลงทุนต่างกัน
กิตติคุณ ยกตัวอย่าง 2 กองทุนยอดนิยมในปี 2559 ได้แก่ กองทุน TMB Global Income และ SCB Global Income Plus
“ดูเผินๆ แล้วนั้นนักลงทุนก็อาจจะคิดว่าเหมือนๆ กัน แต่ต้องบอกเลยว่า ต่างกันโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่ประเภทของกองทุน สินทรัพย์ที่กองทุนเน้นลงทุน แม้ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเหมือนกันก็ตาม” กิตติคุณ กล่าว
กองทุน TMB Global Income นั้นเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกมากกว่า 80% ของเงินลงทุน โดยมีการลงทุนผ่านกองทุนแม่ Master Fund ของ PIMCO GIS Income Fund
กองทุน SCB Global Income Plus นั้นเป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกโดยผ่านกองทุน Master Fund คือ Deutsche Invest I Multi Opportunities โดยมีการแบ่งเงินลงทุนในหุ้นประมาณ 31.8% ตราสารหนี้ 29.8% และเงินสด 30.4% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559)
อีกประเด็นหนึ่งที่แม้จะทำให้ได้รายได้ประจำจาก Income Fund เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ นโยบายจ่ายปันผล กับนโยบายขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
ถ้าเป็นกองทุนที่มีนโยบายขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่การรับเงินปันผลจะต้องเลือกว่า จะให้หักภาษี ณ ที่จ่าย อัตรา 10% หรือจะนำไปคำนวณรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อยื่นภาษีเงินได้
Yield หรือ Total Return
นอกจากนี้ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ กล่าวว่า Income Fund ในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.Yield Approach
2.Total Return Approach
“ถ้าเป็น Yield Approach จะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่จ่ายปันผลได้มาก เช่น การเลือกหุ้นปันผล โดยดูจากอัตราการจ่ายเงินปันผล ขณะที่ Total Return Approach จะไม่สนใจว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนจะจ่ายปันผลได้หรือไม่ แต่จะดูว่าอนาคตจะดีหรือไม่” ชยนนท์ กล่าว
ขณะที่ เจษฎา สุขทิศ ผู้ร่วมก่อตั้ง บลน.อินฟินิติ (อีกคนหนึ่ง) ให้ข้อมูลไว้เมื่อนานมาแล้วว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบ Total Return Approach ค้นคิดโดย Bill Gross ผู้ก่อตั้งกองทุน PIMCO ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทำผลตอบแทนได้ดีต่อเนื่อง
Bill Gross บอกว่า นักลงทุนตราสารหนี้ทั่วไปมักจะมอง Yield หรืออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เป็นหลักในการเลือกลงทุน แต่แนวทางแบบ Total Return Approach มีเป้าหมายใน
การทำให้ผลตอบแทนรวมจากราคาตลาดทั้งที่มาจาก Yield และกำไร (หรือขาดทุน) ของตราสารหนี้ให้ดีที่สุด ในระดับความผันผวนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ มีรายงานในต่างประเทศเรื่อง “Income-only or total return investing?” โดย Rathbones เปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของทั้งสองแนวทาง
นี้ไว้
ข้อดีของ Income-only (หรือ Yield Approach) คือ ประเมินได้ง่ายว่าจะมีรายได้ปีละประมาณเท่าไร นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนลดลงรุนแรง แต่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลลดลงไม่มาก และในปี 1998-1999 ยังเพิ่มขึ้นด้วย (ยกเว้นวิกฤตครั้งล่าสุด 2008-2010 ที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลลดลง 24%)
ขณะที่ข้อด้อย คือ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเน้นลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่ให้รายได้เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุน และอาจทำให้ “เงินต้น” ไม่เติบโต
ข้อดีของ Total Return คือ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำแค่ไหน เพราะการลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้สามารถเพิ่มโอกาสในการลงทุนได้เต็มที่ ขณะที่ข้อด้อย คือ ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่าในแต่ละปีจะได้ผลตอบแทนเท่าใด และอาจไม่ได้รับผลตอบแทนในช่วงภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย
“ผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือดอกเบี้ย เหมาะที่จะเป็นรายได้ประจำมากกว่ากำไรจากราคาหุ้น หรือตราสารหนี้อยู่แล้ว เพราะมีความสม่ำเสมอมากกว่า แต่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ การได้ Total Return จะดีกว่า เพราะได้ทั้งผลตอบแทนและมีโอกาสที่เงินต้นจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย”ชยนนท์ กล่าว
แต่ถ้ายังสองจิตสองใจไม่แน่ใจว่าแบบไหนจะเหมาะสมมากกว่ากัน ก็เลือกลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทไปพร้อมกัน
เผยเคล็ดลับ คัดเลือก Income Fund ในดวงใจ
ถ้าต้องการรายได้ประจำจากการลงทุนในกองทุนรวม หรือ Income Fund วิธีการค้นหากองทุนที่ง่ายที่สุด คือไปที่เว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (www.aimc.or.th) แล้วค้นหากองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
แต่อาจจะเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลมีอยู่ทั้งหมด 330 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.พ. 2560) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกองทุนที่ไม่ได้จ่ายปันผล แต่ใช้วิธีการขายหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ในจำนวน 330 กองทุนนี้ก็ไม่ใช่ทุกกองทุนที่จะสามารถขึ้นมาเป็น "Income Fund ในดวงใจ" ได้ เพราะ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ บอกว่า Income Fund ที่ดีควรจะให้กระแสเงินสดได้อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง
"ถ้ามีนโยบายปันผล หรือขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติปีละครั้ง หรือปันผลแต่ไม่สม่ำเสมอก็ไม่ใช่การจ่ายกระแสเงินสด ถ้าจะให้ดีต้องไตรมาสละ 1 ครั้ง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด คือเดือนละครั้ง" ชยนนท์ กล่าว
ขณะที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า จากการสำรวจข้อมูลในระบบของ Morningstar มี Income Fund ที่ลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด 19 กองทุน โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้ 5 กองทุน และอีก 14 เป็น กองทุนผสม
เมื่อ Income Fund มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นก่อนจะเริ่มคัดเลือกกองทุน กิตติคุณ บอกว่า รู้จักตัวเองก่อนว่าเหมาะกับกองทุนแบบไหน รับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงไปศึกษาสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นๆ เน้นลงทุน รวมไปถึงแหล่งที่มาของผลตอบแทน
อาชวิณ อัศวโภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มผลิตภัณฑ์และตราสารหนี้ต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในการคัดเลือก Income Fund สิ่งที่สำคัญคือ "ผู้จัดการกองทุน" และผลดำเนินงานที่ผ่านมา
"ในการคัดเลือก Income Fund ต่างประเทศ เราต้องไปคุยกับผู้จัดการกองทุน ไปดูเรื่องหลักการและแนวคิดในการลงทุนของเขา เพราะคุณภาพของผู้จัดการกองทุนเป็นสิ่งที่จะบอกอนาคตของกองทุนได้ เหมือนกับการซื้อรถ เราคงไม่ได้ดูแค่ว่ารถคันนี้วิ่งได้เร็วเท่าไร แต่ต้องดูด้านอื่นๆ ประกอบกันด้วย" อาชวิณ กล่าว
ขณะที่ ชยนนท์ กล่าวถึงกระบวนการในการคัดเลือก Income Fund เพื่อนำมาจัดพอร์ตตามโมเดล Global Income Focus (NTER GIF) ให้กับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระหว่างทาง และมีเป้าหมายจ่ายกระแสเงินสดได้ปีละ 4-5% ต่อปี และกำไรจากราคาซื้อขายอีก 2-3% (รวมเป็น Total Return 6-8% ต่อปี)
1.Top-down Analysis คือ วิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์โลก เพื่อออกแบบกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับสภาวะการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ
2.Construct Portfolio Model ออกแบบพอร์ตการลงทุนโดยใช้ Black-Litterman Model คำนึงถึงสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสด และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีความผันผวนต่ำกว่าตลาดหุ้นโดยรวม
3.Fund Selection คัดเลือกกองทุน รวมที่สอดรับกับ Portfolio Model ด้วย Best-in-Class Approach เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้กองทุนรวมที่ดีที่สุดแต่ละประเภทสินทรัพย์ที่ไปลงทุน
โดยเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายปันผล หรือขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ทุกๆ เดือน หรือทุกๆ ไตรมาส ในสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่เหมาะกับการกระจายความเสี่ยง และให้ ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ชยนนท์ เล่าว่า ทีมงาน บลน. อินฟินิติใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะรวบรวมรายชื่อกองทุนที่เข้าเงื่อนไขการลงทุน
4.Implementation & Generate Cash Flow การจัดพอร์ต หรือสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนสภาวะตลาด โดยจะทบทวนสัดส่วนตามมุมมองเศรษฐกิจระยะยาวทุกๆ 6 เดือน เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้ได้ ต่อเนื่องในทุกๆ ปี
ในที่สุดก็ได้ออกมา 4 กองทุน ได้แก่
กองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอินคัมเฮดจ์ (KF-AINCOME) ลงทุนในกองทุนหลักที่ชื่อ กองทุน Schroder Asian Income มีนโยบายลงทุนหุ้น รีท และตราสารหนี้ในเอเชียเป็นหลัก
กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลสมาร์ท อินคัม (KF-SINCOME) ลงทุนในกองทุน PIMCO GIS Income Fund ที่กระจายการลงทุนตราสารหนี้ประเภทต่างๆ โดยดูแนวโน้มในอนาคตและผสมสินทรัพย์ให้เหมาะสม จุดเด่นอีกข้อ คือ สามารถเพิ่มหรือลดอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ในพอร์ตได้ตั้งแต่ 0 ปี ไปจนถึง 8 ปี
กองทุนเปิดเค โกลบอล อินฟราสตรักเจอร์ หุ้นทุน (K-GINFRA) ลงทุนใน Morgan Stanley Investment Funds Global Infrastructure, Class Z ที่เน้นลงทุนในหุ้น รีทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก
กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล อิควิตี้ ดิวิเดนด์อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iDIV-R) ลงทุนหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลหรือมีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลในอนาคต ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE) ลงทุนในหุ้นไทยไม่เกิน 30 บริษัท
ชยนนท์ บอกว่า ไม่หวงห้าม นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามพอร์ตของ NTER GIF ได้เลย เพราะมั่นใจว่าเป็นกองทุนที่ Best-in-Class ใน มุมมองของ บลน.อินฟินิติ