posttoday

ลุยพัฒนาสนามบิน15แห่งในไทยหวังรับผู้โดยสาร58ล้านคนใน9ปี

07 มีนาคม 2560

กรมท่าอากาศยานเดินหน้าพัฒนาสนามบิน 15 แห่ง วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท –หวังรองรับจำนวนผู้โดยสาร 58 ล้านคนภายใน 9 ปี

กรมท่าอากาศยานเดินหน้าพัฒนาสนามบิน 15 แห่ง วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท –หวังรองรับจำนวนผู้โดยสาร 58 ล้านคนภายใน 9 ปี

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์(มินิคาบิเนต เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบิน 39 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้ 277 ล้านคนต่อปี ภายใน 10 ปีข้างหน้านั้น นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยานเตรียมแผนการพัฒนาท่าอากาศยานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ระหว่างปี2560-2564 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานรวม 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชเฟส 1 ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานตรัง เฟส 1 ท่าอากาศยานนราธิวาส ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก และก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา สำหรับระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565-2569 วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท พัฒนาเพิ่มอีก 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เฟส 2 ท่าอากาศยานตรัง เฟส 2 ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานอุดรธานี เฟส 3 ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานเลย และปรับปรุงท่าอากาศยานหัวหิน

นายดรุณ กล่าวต่อว่า ตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ประมาณ 58 ล้านคนในปี 2568 ส่วนด้านตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้จริงในปีดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคนและเพิ่มเป็น 53 ล้านคนต่อปีในปี 2578

“เบื้องต้นจะขยายสนามบินที่มีผู้โดยสารจำนวนมากก่อน ส่วนที่ยังไม่มากจะยังไม่มีการขยาย ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนขยายสนามบินที่เริ่มมีผู้โดยสารคึกคัก สำหรับงบประมาณที่ตั้งไว้ดังกล่าว คาดว่าจะเพียงพอกับการพัฒนา เนื่องจากแต่ละแห่งได้คำนวณมาเรียบร้อยแล้ว โดยแต่ละปีจะใช้งบประมาณ 6 พันล้านบาทเท่านั้น”นายดรุณ กล่าว

ทั้งนี้ท่าอากาศยานตามที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอรวม 39 แห่ง แบ่งเป็นของ ทย.ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 28 แห่ง และเพิ่มเติมอีก 1 แห่งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ ท่าอากาศยานเบตง รวมเป็น 29 แห่ง ท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.จำนนวน 6 แห่ง ท่าอากาศยานของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จำนวน 3 แห่ง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ของกองทัพเรืออีก 1 แห่ง