คนไทยขี้ร้อนไฟฟ้าเริ่มพีกช่วงกลางคืน
กฟผ.จับตาไฟพีกเดือน มี.ค.ส่อมาเร็ว เกิดกลางคืนเหตุอากาศร้อนคนแห่ใช้เครื่องปรับอากาศ
กฟผ.จับตาไฟพีกเดือน มี.ค.ส่อมาเร็ว เกิดกลางคืนเหตุอากาศร้อนคนแห่ใช้เครื่องปรับอากาศ
นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในเดือน มี.ค. จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนเฉลี่ยที่ระดับ 2.8 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มทำสถิติตั้งแต่เดือนนี้ เมื่อเทียบกับไฟพีกปี 2559 อยู่ที่ 29,619 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง
"ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 อยู่ที่ระดับ 27,200 เมกะวัตต์ ซึ่งปีนี้คาดว่าเดือน มี.ค. ไฟพีกอยู่ที่ 28,200 เมกะวัตต์ เดือน เม.ย.ที่ระดับ 29,00 เมกะวัตต์ ส่วนเดือน พ.ค.สูงสุด 3 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน มี.ค. คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะโต 4.5% ส่วนเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาขยายตัว 0.3% เดือน ก.พ.ขยายตัว 4.5%" นายเริงชัย กล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า คาดว่าไฟฟ้าพีกปี 2560 จะทยอยเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. ขยายตัวประมาณ 1.6% จากปี 2559 ที่ระดับอุณหภูมิ 39 องศา โดยปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในทุกสาขาและอุณหภูมิปีนี้ที่คาดว่าจะยังคงร้อนต่อเนื่อง
สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ในขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ทาง กฟผ.จะต้องดำเนินการใหม่หมด คาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) ได้ภายใน 3 เดือนนี้ และขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลารวม 2 ปีกว่า หรือจะเลื่อนจ่ายไฟเข้าระบบไปจากเดิมปี 2564 เป็นปี 2567
อย่างไรก็ตาม หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ดำเนินการไม่ได้และต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก บริษัท ปตท.ไม่ได้เชื่อมต่อท่อก๊าซให้เพราะไม่คุ้มหรือหากต้องนำเข้าแอลเอ็นจีแบบคลังลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) ก็จำเป็นต้องต่อท่อก๊าซจากทะเลเพื่อขนถ่าย ซึ่งในอนาคตรัฐบาลมี นโยบายจะประกาศให้ จ.กระบี่ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลก็อาจจะหมดสิทธิในพื้นที่นี้ได้
นอกจากนี้ กฟผ.ได้ประเมินว่าหากคำนวณมูลค่าต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีในปี 2565 เทียบกับถ่านหิน พบว่าแอลเอ็นจีจะมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่แพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 80 สตางค์/หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านบาท/ปี ซึ่งในแผนระยะยาวต้นทุนเชื้อเพลิงอาจสูงกว่านี้มาก ทั้งนี้ท้ายสุดแล้วหากไม่เลือกถ่านหิน กฟผ.ก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐ