ครูมด-สุรพล ทิศทองคำ เป็นเจ้าของ ใช่ว่าจะใช้กี่บาทก็ได้
ถ้าไม่ได้มีลูกหลานในชั้นประถม-มัธยมต้น ก็อาจจะคิดว่า “สุรพล ทิศทองคำ”
ถ้าไม่ได้มีลูกหลานในชั้นประถม-มัธยมต้น ก็อาจจะคิดว่า “สุรพล ทิศทองคำ” ก็คงเป็นเพียงคนทำอาชีพอิสระธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าผู้ชายคนนี้คือ “ครูมด” ติวเตอร์ชั้นนำ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของสถาบัน “บ้านครูมด” (BaanKruMod Academy) จะรู้ได้ทันทีว่าเขาไม่ธรรมดา
สุรพลสร้าง “บ้านครูมด” ด้วยเงินเก็บเพียง 2 หมื่นบาท ที่ได้จากการสอนพิเศษตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จากนักเรียนเพียงไม่กี่คน เพิ่มเป็นหลักพันในปัจจุบัน
“เริ่มติวให้เด็กๆ ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ จนมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง พอเรียนจบก็ตั้งใจเปิดสถาบัน เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ แต่ตอนทำปีแรกก็ลำบาก ต้องกลับไปกินข้าวบ้านทุกวัน ทำกับข้าวมากินตอนกลางวัน เพราะยังมีนักเรียนไม่มาก”
ครูมด ยังเล่าอีกว่า แม้ว่าในช่วงปีที่ 1-2 จะมีนักเรียนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีรายได้มากขึ้น เพราะไม่มีความรู้เรื่องการบริหารเงิน แต่ก็ได้ “ครูนัท” (นัฏฐวุธ พันธวงษ์) มาช่วยแนะนำ
“เพราะเราเรียนจบด้านภาษา ไม่มีความรู้เรื่องการบริหารเงินเลย ช่วงแรกยังบริหารเงินสะเปะสะปะ ทำให้ไม่มีเงินเก็บเป็นเรื่องเป็นราว ในปีที่ 1-2 ทั้งๆ ที่มีนักเรียนเพิ่ม แต่ไม่มีเงินเพิ่ม ก็เลยตั้งใจทำเรื่องการเงินให้เป็นเรื่องเป็นราว”
ครูมด บอกว่า ปัญหาในตอนนั้นคือ “เราเอารายได้ไปรวมกับรายจ่าย เด็กจ่ายค่าเรียนมา เราก็เอาเงินไปใช้จ่าย เลยไม่รู้ว่ารายได้ต่อเดือนเท่าไร... ตอนนั้นไม่รู้จริง”
นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่ง คือ “เราไม่ได้จริงจังกับการชำระเงินค่าเรียนของนักเรียน”
“มาตั้งหลักใหม่ในปีที่ 3 เริ่มทำบัญชี แยกรายรับกับรายจ่ายชัดเจน พอมีรายรับเข้ามาก็เอาไปเข้าบัญชีเงินฝากก่อนเลย แล้วจะใช้อะไรก็ไปเบิกออกมา ทำให้รู้ว่า เราได้กำไรกี่บาท”
พร้อมกับหาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ การชำระค่าเรียนล่าช้า ไม่ตรงเวลา
“เราก็ไม่เคยทวงเงินค่าเรียนเลย เพราะเราตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาด้วยใจ ไม่ได้ใช้เงินนำทาง และเราก็จะไม่เปลี่ยนเจตนารมณ์อันนี้ แต่เปลี่ยนเป็นการกระตุ้นให้ชำระค่าเรียนด้วยวิธีการอื่นๆ
ในช่วงปีที่ 3-4 ใช้วิธีการแบบเดียวกับที่อื่นๆ คือใช้ของแจกของแถม
แต่เรามาตั้งหลักได้ในปีที่ 7 ซึ่งประสบการณ์สอนเราว่า นักเรียนมาด้วยการเรียน เพราะฉะนั้นโปรโมชั่นต้องไม่ใช่ของแจกของแถม แต่ต้องเป็นเรื่องการเรียน เช่น ใครชำระค่าเรียนครบจะได้เข้าไปดูการสอนทางออนไลน์ได้ และเด็กจำเป็นต้องเรียนทางออนไลน์ เพราะเป็นตัวเสริม วิธีนี้ได้ผลมากๆ เราจึงไม่มีปัญหาเรื่องการชำระค่าเรียนแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังไม่หมด เพราะเมื่อโรงเรียนมีชื่อเสียงมากขึ้น มีนักเรียนเพิ่มขึ้น จำนวนครูและพนักงานมากขึ้น เป็น 40 คนในปัจจุบัน จึงต้องจัดการเรื่องบริหารเงินให้ละเอียดมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น ครูมด เล่าว่า เขาต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจากเดิมที่เคยสอนอย่างเดียวก็ต้องมาทำงานด้านบริหารด้วย
“แต่เราเกิดมาเพื่อสอน ก็เลยต้องหาคนมาทำบัญชี หาคนมาเป็นผู้จัดการสาขา (ตอนนี้มีอยู่ 3 สาขา) และเราก็ถอยออกมาดูในภาพรวมทั้งหมดแทน”
วันนี้เขาจึงสอนได้อย่างเต็มที่และบริหารจัดการธุรกิจได้ลงตัว รวมทั้งการบริหารเงินส่วนตัวด้วย
ก่อนที่จะให้ครูมดเล่าถึงวิธีการบริหารเงินส่วนตัว ครูมดฝากคำแนะนำไปถึง “น้องๆ” ซึ่งครูมดบอกว่า “เห็นได้ชัดในเด็กยุคหลังๆ น้องๆ ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งของที่ได้จากพ่อแม่ ใช้ของไม่ถนอม เพราะไม่ได้ซื้อเอง จึงอยากฝากว่า...
1.ของทุกอย่าง แม้ไม่ได้ซื้อเอง แต่อยากให้เห็นคุณค่า พยายามรักษาไว้ให้ใช้ได้นานๆ
2.การเก็บออมเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะตั้งเป้าหมายในการออม เช่น จะออมให้ได้ 1 หมื่นบาท แต่ไม่ใช่ว่าเก็บเงินได้หมื่นบาทแล้วจะเป็นเศรษฐี แต่อยากให้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะสิ่งที่จะได้ คือ การฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นจะรับมือและจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
พร้อมกับบอกว่า “สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากเด็ก” เช่นเดียวกับครูมด ที่ได้รับการฝึกวินัยทางการเงินมาตั้งแต่เด็ก
“พ่อแม่จะบอกตั้งแต่เด็กเลยว่า ถ้าจะต้องจ่ายเงินให้ใครต้องจ่ายตรงเวลา เพราะทุกคนต่างมีความจำเป็นต้องใช้เงินทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่ต้องจ่ายเงินค่าสอนให้กับครูที่บ้านครูมดจะต้องจ่าย ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนก็ต้องไปจ่าย เพราะทุกคนต้องใช้เงิน”
ในขณะที่รายจ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ ในสถาบัน ครูมดจะใช้วิธีการชำระด้วยบัตรเครดิต เพื่อให้จ่ายตรงเวลา
“เราไม่ใช่คนประหยัด แต่ก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือย แค่รู้ว่า อะไรควรจ่าย อะไรไม่ควรจ่าย”
ในแต่ละเดือน ครูมดจะจ่ายเงินเดือนประจำให้ตัวเอง
“ไม่ใช่ว่าเป็นเจ้าของแล้วจะใช้เงินกี่บาทก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่กำหนดรายได้ของตัวเองเอาไว้ ตัวเราอาจจะใช้เงินแบบเละเทะก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีกรอบบางอย่างไว้รัดตัวเอง”
และอีกสิ่งหนึ่งที่ครูมดหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น คือ ภาระหนี้
“นอกจากค่าเช่าตึกแล้ว ตอนนี้ไม่มีหนี้ เพราะกลัวการเป็นหนี้ กลัวดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะซื้อด้วยเงินสด แต่ก็มีบ้านที่ไม่สามารถจ่ายด้วยเงินสดได้ เพราะราคาสูง แต่ก็ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองว่าจะต้องผ่อนให้หมดภายใน 4 ปี เพราะรู้ว่าดอกเบี้ยมันแพง ต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะมากถ้าไม่รีบโปะ”
และตอนนี้ครูมดก็สามารถปลดหนี้ที่ซื้อบ้านได้แล้ว แถมยังทำได้ก่อน 4 ปี เร็วกว่าที่ตั้งใจไว้เสียอีก
“ด้วยความเป็นครู เราสร้างตัวเองให้เป็นพ่อพิมพ์ เป็น Roll Model จึงติดนิสัยที่จะทำให้ตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดี และติดมาถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เลยทำให้เป็นคนที่มีวินัย ซึ่งใครก็ทำได้ ถ้าแน่วแน่ในเป้าหมาย ทุกคนทำได้แน่นอน แต่ถ้าเหยาะแหยะไม่เอาจริงสุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะอุปสรรคสำคัญ คือ จิตใจ”
ครูมด เล่าว่า เขามีวิธีการกระตุ้นตัวเองให้เก็บเงิน โดยการตั้งของรางวัลให้ตัวเอง เมื่อออมเงินได้ตามเป้าหมาย
“เช่น ตั้งเป้าหมายว่า ถ้าเก็บเงินได้เท่านี้จะซื้อของขวัญอะไรให้ตัวเอง ความอยากได้ของขวัญจะกระตุ้นให้เราออม ทำให้เราประหยัด แต่ไม่ใช่ว่าออมได้แล้วจะเอาเงินที่ออมได้ทั้งหมดไปซื้อของจนหมดเหลือศูนย์บาท แต่เอาไปซื้อแค่ 10-20% ของเงินที่เก็บได้”
โดยวิธีการออมที่ครูมดใช้เป็นประจำ คือ การฝากประจำ และซื้อสลากออมสิน (ซึ่งถูกรางวัลทุกงวด)
“ตอนนี้ไม่ได้อยากได้อะไรแล้ว คิดว่าถึงจุดที่ต้องคืนกำไรให้สังคมแล้ว จะนำกำไรจากสถาบันไปช่วยสังคม โดยการสอบเข้า ม.1 แฟร์ และค่ายติวสอบเข้า ม.1 เพราะเด็กหลายคนอยากเรียนพิเศษ แต่ไม่มีโอกาส เราก็ไปช่วยเขา เด็กๆ ก็ดีใจมาก และตั้งใจเรียนมากๆ ซึ่งหากจะเทียบความรู้สึกตอนที่ออมได้แล้วไปซื้อของ กับเอาไปช่วยเด็ก การช่วยเด็กได้ความอิ่มใจมากกว่า”