posttoday

KCE ปั้นรายได้ทะลุ 3 หมื่นล้าน 5 ปี

03 เมษายน 2560

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงินบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เพราะมีรายได้จากการส่งออกสูงสัดส่วนประมาณ 95% ของรายได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ KCE ทำได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กลับเห็นการเติบโตของกำไรและรายได้ต่อเนื่องโดดเด่นทุกปี สวนทางกับการส่งออกของไทย“พิธาน องค์โฆษิต” กรรมการผู้จัดการ KCE ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ว่า เป้าหมายในปี 2564 วางไว้ว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็นมากกว่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรายได้ปี 2560-2564 จะต้องเติบโตเฉลี่ยประมาณ 15% ในทุกปี ทำให้รายได้จะเติบโตต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่ทุกปีจากปี 2559 ที่มีรายได้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ด้วยปัจจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังเติบโตในทุกปี จากความต้องการใช้กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทั้งในสหรัฐและยุโรปได้ออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้ภายในรถยนต์ต้องติดตั้งระบบฉุกเฉินเพื่อสามารถเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือรถพยาบาลมาช่วยได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นปัจจัยให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบเพื่อผลิตรถยนต์ต่อคันจะมีสัดส่ว

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เพราะมีรายได้จากการส่งออกสูงสัดส่วนประมาณ 95% ของรายได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ KCE ทำได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กลับเห็นการเติบโตของกำไรและรายได้ต่อเนื่องโดดเด่นทุกปี สวนทางกับการส่งออกของไทย

“พิธาน องค์โฆษิต” กรรมการผู้จัดการ KCE ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ว่า เป้าหมายในปี 2564 วางไว้ว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็นมากกว่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรายได้ปี 2560-2564 จะต้องเติบโตเฉลี่ยประมาณ 15% ในทุกปี ทำให้รายได้จะเติบโตต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่ทุกปีจากปี 2559 ที่มีรายได้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ด้วยปัจจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังเติบโตในทุกปี จากความต้องการใช้กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากทั้งในสหรัฐและยุโรปได้ออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้ภายในรถยนต์ต้องติดตั้งระบบฉุกเฉินเพื่อสามารถเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือรถพยาบาลมาช่วยได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นปัจจัยให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบเพื่อผลิตรถยนต์ต่อคันจะมีสัดส่วนมากขึ้น

นอกจากนี้ แนวโน้มของโลกที่มีการผลิตรถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์แบบขับเคลื่อนเองแบบไร้คนขับ อีกทั้งบริษัทยังมีแผนที่จะหาลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2559 มีลูกค้าใหม่ที่นับเฉพาะรายใหญ่เข้ามาอีกจำนวน 5-6 ราย

ขณะที่แผนภายในถือเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาเสริมให้ธุรกิจของบริษัทสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแผนที่เริ่มทำในปี 2559 ที่ผ่านมาต่อเนื่องในอนาคตจะเพิ่มการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีความยากหรือมีความซับซ้อนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดยปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนทีมงานวิศวกรประมาณ 100 คน

แผนภายใน 3 ปีนี้ บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มให้เป็นมากกว่า 50% ของยอดขาย โดยลดกลุ่มผลิตภัณฑ์ปกติ คือแผงพีซีบี 2 ชั้น และ 4 ชั้น ให้มีสัดส่วนลดลงจากปัจจุบันที่มีประมาณ 70% ให้เหลือต่ำกว่า 50% เพราะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้มากขึ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์มีอัตรากำไรขั้นดีขึ้นจากสินค้าปกติเฉลี่ยอย่างน้อยอีกประมาณ 3-4% สอดคล้องกับเป้าหมายภายใน 3 ปี บริษัทต้องการจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยเพิ่มเป็นประมาณ 50% จากระดับ 30%

สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นในช่วงไตรมาส 1/2560 จะอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่เคยทำได้ที่ประมาณ 35-36% เพราะต้นทุนวัตถุดิบหลักคือราคาแผ่นทองแดงปรับที่มีต้นทุนกระบวนการผลิตที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2559 ที่ประมาณ 2,000-2,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งในไตรมาสแรก ปีนี้ขึ้นมาที่ระดับ 5,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน และอีกส่วนหนึ่งคือแร่ทองแดงมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มต้นทุนราคาแผ่นทองแดงในช่วงปลายไตรมาสแรกนี้ ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณราคาแผ่นทองแดงมีราคาที่ลดลง เพราะปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินของแผ่นทองแดงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้จะเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติที่ทำได้คือใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ระดับ 35-36%

ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ บริษัทถือว่าทำอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงสุด ด้วยปัจจัยหลักคือบริษัทเป็นผู้ประกอบการ 1 ใน 3 ของโลกที่มีโรงงานสามารถผลิตวัตถุดิบเองได้สัดส่วนประมาณ 80% ของที่ต้องใช้ทั้งหมด อีกทั้งมีคุณภาพสินค้ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายของพีซีบีในตลาดโลกประมาณ 7% จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีกได้ในอนาคต

ปัจจุบันโรงงานของบริษัท 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานบางปู มีกำลังผลิต 4.5 แสนตารางฟุต/เดือน ปัจจุบันใช้กำลังผลิตราว 95-97% โรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตารางฟุต/เดือน ใช้กำลังผลิตไป 95% ส่วนโรงงานที่ลาดกระบังมีกำลังผลิต 1.5 ล้านตารางฟุต/เดือน ปัจจุบันใช้กำลังผลิตไปแล้วราว 1.3 ล้านตารางฟุต/เดือน โดยในไตรมาส 2 ปีนี้เพิ่มกำลังผลิตของโรงงานลาดกระบังอีก 2 แสนตารางฟุต/เดือน และในช่วงครึ่งปีนี้จะขยายกำลังผลิตอีก 3 แสนตารางฟุต/เดือน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังผลิตทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจะรองรับการเติบโตของรายได้เป้าหมายในปี 2561 เท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเป้าหมายรายได้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 บริษัทจะต้องลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่เพิ่ม ซึ่งในช่วงกลางหรือปลายปี 2561 จะต้องทำแผนกลยุทธ์เพื่อตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานกำลังผลิต 2 ล้านตารางฟุต/เดือน มูลค่าลงทุน 4,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาทำเลที่ตั้งของโรงงาน เพราะที่ลาดกระบังมียังมีพื้นที่เหลือในโรงงานลาดกระบัง อีกทั้งกำลังรอติดตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2561 ด้วยว่าจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง หากส่งเสริมการลงทุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) บริษัทสนใจเข้าไปตั้งโรงงาน

สำหรับแนวโน้มที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าในปีนี้ทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงจากประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มขยับปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ส่งผลต่อกระแสเงินทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การทำธุรกิจของ KCE ไม่ได้มองทิศทางค่าเงินบาทว่าจะแข็งหรืออ่อนค่า โดยการบริหารด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศสัดส่วน 95% ของรายได้ทั้งหมดจะใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงแบบธรรมชาติเป็นหลัก โดยมีการจับคู่กับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐที่มีสัดส่วน 51% ส่วนการใช้เครื่องมือทางการเงินบ้างแต่เป็นสัดส่วนที่น้อย

อีกทั้งส่วนหนึ่งยังมีการกู้ยืมเงินระยะยาวเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐที่จะเข้ามาช่วยสร้างความสมดุลของผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อรายได้ของบริษัท เพราะถ้าในงบดุลมีหนี้ก้อนใหญ่เป็นเหรียญสหรัฐ เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบริษัทจะมีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สกุลเหรียญสหรัฐ แต่จะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากฝั่งรายได้ ส่วนกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่าจะให้ผลตรงข้ามกัน จึงเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงช่วยลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างดีซึ่งเป็นนโยบายที่เหมาะสมเพียงพอในการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนโยบายการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มใช้ในปี 2558

สำหรับทุกการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาททุก 1% จะส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทประมาณ 0.3% โดยหากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1% อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะดีขึ้น 0.3% แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นผลจะเกิดในทางตรงกันข้าม