บริษัทผลิตลูกบอลดับเพลิงฟ้อง "แจ็ค หม่า" ละเมิดสิทธิบัตร
อิไลด์ไฟร์บอล โปร ผู้ผลิตลูกบอลดับเพลิงยื่นฟ้อง ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ขายสินค้าละเมิดสิทธิบัตรบนเว็บไซต์
อิไลด์ไฟร์บอล โปร ผู้ผลิตลูกบอลดับเพลิงยื่นฟ้อง ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ขายสินค้าละเมิดสิทธิบัตรบนเว็บไซต์
นายวิรัช พิพรพงษ์ ทนายความทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท อิไลด์ไฟร์บอล โปร กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นเอกสารฟ้องนายหม่า ยุน หรือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา เกี่ยวกับการนำเสนอขายสินค้าละเมิดสิทธิบัตรผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Alibaba และ ALIEXPRESS โดยสินค้าที่ผิดกฏหมายดังกล่าว มีชื่อว่า ลูกบอลดับเพลิง AFO ที่ขายในราคา 6-8 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สินค้าจริงมีชื่อสินค้าว่า อิไลด์ ไฟร์บอล ราคาสินค้า 1,900 บาท ซึ่งมีการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าและคู่ค้ามานานเกือบ 20 ปีแล้ว และเมื่อมีการทดสอบสินค้าลอกเลียนแบบดังกล่าวพบว่าไม่สามารถดับไฟได้จริงทำให้มีความเสี่ยงแก่ลูกค้าที่ซื้อไปเพื่อใช้งาน ด้วยรูปลักษณ์และสีของสินค้าที่เหมือนกันมากจึงสร้างความสับสนแก่ผู้ซื้อ ซึ่งการลอกเลียนสินค้าดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทเกิดผลกระทบด้านความเชื่อมั่นและการเป็นผู้แทนจำหน่าย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 3,000 ล้านบาท
ด้าน นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิไลด์ ไฟร์บอล โปร ยังกล่าวเสริมอีกว่า ระบบกฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเทศต้องมีกฏหมายควบคุมที่ชัดเจน การฟ้องร้องของบริษัทครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกตัดสินเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งชนะการฟ้องร้อง แต่ทางอาลีบาบาไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งบริษัทเข้าใจดีเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลมีการฉุกคิดและระมัดระวังในการดึงนักลงทุนที่ทำธุรกิจไม่โปร่งใสเข้ามาลงทุน เพราะสินค้านวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยไทยเพิ่งเริ่มมีกฏหมายการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรมาไม่นาน จึงควรมีมาตรการออกมารองรับให้เรียบร้อย เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศเมื่อมีการตรวจพบสินค้าลอกเลียนแบบจะระงับการนำเข้าสินค้าและให้ดำเนินการตามกฏหมายแต่ในไทยต้องดำเนินการเองทั้งหมด และทางบริษัทเองก็ได้จดสิทธิบัตรกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ มูลค่าความเสียหายนั้น ตั้งแต่ปี 2555 บริษัทรายได้ลดลงกว่า 1,800 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้บริษัทมีรายได้เหลือเพียงไม่ถึง 20 ล้านบาทต่อปี จากปกติที่บริษัทมีรายได้กว่า 50-100 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงยื่นฟ้องร้องค่าเสียหายที่ 1,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยรายได้ที่ต้องเสียไปรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องร้องทั้งหมด เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับผู้ผลิตนวัตกรรมและผู้ถือสิทธิบัตรในอนาคต เพราะไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงควรมีมาตรการคุ้มครองที่ชัดเจน