posttoday

เปิดปมไทยเสี่ยงติดบ่วงบัญชี PWL สหรัฐ

15 เมษายน 2560

การลงนามในคำสั่งพิเศษของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ (Executive Order) เพื่อดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุ

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

การลงนามในคำสั่งพิเศษของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ (Executive Order) เพื่อดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุ การขาดดุลการค้าของสหรัฐกับ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย มีการโยงถึงประเด็นที่สหรัฐแสดงความไม่ความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่ยังดีพอ และอาจเป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับไทยในระยะต่อจากนี้

 ทั้งนี้ ในการจัดสถานะบัญชีประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2560 ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐจะประกาศผลสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าไทยจะยังอยู่ในบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 นับจากปี 2550 ที่ไทยถูกสหรัฐจัดอันดับให้อยู่ในบัญชี PWL นี้

  หากไล่เรียงการแก้ไขปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ที่ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าไทยจะยังอยู่ในบัญชี PWL เริ่มตั้งแต่ภาคเอกชนสำคัญของสหรัฐ โดยกลุ่มพันธมิตรต่อต้านการปลอมระหว่างประเทศ (IACC) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) ได้เสนอต่อยูเอสทีอาร์ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ให้คงสถานะไทยในบัญชี PWL เพื่อให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น เช่น การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ครอบคลุมมากขึ้น การให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาอย่างเข้มงวด และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น

หลังจากนั้น ยูเอสทีอาร์ได้เผยแพร่รายงานประเมินผลด้านการค้าของสหรัฐเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศประจำปี 2560 (National Trade Estimate Report on Foreign Trade) หรือรายงาน NTE ช่วงวันที่ 31 มี.ค. 2560 โดยระบุว่าในปี 2559 สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้ากับไทยมูลค่า 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2558 ซึ่งสหรัฐส่งออกสินค้ามาไทยมูลค่า 1.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.9%

ในรายงาน NTE ปี 2560 ได้ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย มีการอ้างถึงปีที่ผ่านมาแม้สหรัฐจะกำหนดให้มีการทบทวนสถานะบัญชีประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญามาตรา 301 พิเศษนอกรอบ (Out of Cycle Review) แต่ในพื้นที่สีแดง (Notorious Market) ของไทย ก็ยังพบการวางขายสินค้าละเมิดจำนวนมาก ที่สำคัญพบการละเมิดผ่านเครือข่ายออนไลน์และโทรศัพท์มือถือที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความกังวลการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรคั่งค้าง (Backlog) ซึ่งมีจำนวนมาก การละเมิดซอฟต์แวร์เถื่อนในหน่วยงานราชการและเอกชนของไทย และการลักลอบใช้สัญญาณเคเบิลเถื่อน เป็นต้น

ล่าสุดในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐ (TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ทางสหรัฐได้ออกมาตอกย้ำประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาในที่ประชุม โดยระบุถึงการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลในหลายเรื่อง เพราะการแก้ไขปัญหาของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้คืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการจดสิทธิบัตรที่ยังล่าช้า

อย่างไรก็ตาม TIFA JC ครั้งนี้เป็นครั้งแรกภายใต้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ ไม่มีรายงานออกมาอย่างเป็นทางการ แม้จะมีการหารือในประเด็นการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งใช้เวลาพูดคุยยาวนานเป็นครึ่งวันก็ตาม โดยผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐแจ้งว่าจะนำผลการประชุมทั้งหมดไปรายงานต่ประธานาธิบดีสหรัฐด้วย

ด้าน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ยอมรับว่าแม้ขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไทยอยู่ในกลุ่มรายชื่อที่ถูกสอบปมขาดดุลของสหรัฐอย่างเป็นทางการ เพราะสหรัฐน่าจะพุ่งเป้าไปที่ จีน เม็กซิโกเป็นหลัก แต่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการกีดกันนำเข้าสินค้าต่างๆ ซึ่งได้พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 มาสะสางสิทธิบัตรที่คั่งค้าง 

“หลังจากนี้น่าจะมีคำสั่งมาตรา 44 ออกมาใช้ในการสะสางการยื่นจดสิทธิบัตรคั่งค้าง ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ การใช้มาตรา 44 รวมสิทธิบัตรยา หรือแยกสิทธิบัตรยาออกไป แต่ถ้าดำเนินการแล้วยังจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตาย เพราะถ้าเราได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ประชาคมโลกรับรู้ ก็จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในด้านการเข้ามาลงทุน” สนธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย     

จากนี้ไปต้องจับตาดูการจัดอันดับสถานะไทยในบัญชีประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ซึ่งน่าติดตามว่าหากไทยยังคงอยู่ในบัญชี PWL ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แม้ว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ไทยอยู่ในบัญชีดังกล่าว สหรัฐจะยังไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับไทย แต่ในอนาคตอันใกล้ภายใต้นโยบายการปกป้องผลประโยชน์คนอเมริกันของทรัมป์ ทำให้การติดอยู่ในบัญชี PWL ในปีที่ 10 เป็นเรื่องไม่ค่อยสู้ดีกับไทยนัก

เหตุเพราะว่าสหรัฐสามารถใช้เป็นข้ออ้างในมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศที่คิดว่าเอาเปรียบสหรัฐ ซึ่งมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่สินค้าไทยได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐอยู่หลายรายการ รวมถึงการตอบโต้ทางการค้าในรูปแบบ อื่นๆ ทั้งการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และมาตรการสุขอนามัยที่จะเข้มงวดมากขึ้น

ไม่รวมถึงประเด็นด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่สหรัฐเข้ามาเข้มงวดในการจัดอันดับไทยอีกครั้ง แม้ว่าในปี 2559 สหรัฐจะประกาศสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปรับเพิ่มอันดับให้ไทยอยู่ในสถานะดีขึ้น (เทียร์ 2) “ที่ต้องจับตามอง” หลังจากที่เคยถูกจัดระดับ “เทียร์ 3” ก็อาจเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจากการแก้ไขปัญหาหลายๆ ด้านของไทยยังไม่คืบหน้ามากพอ 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนไทยต้องตั้งรับและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์กีดกันการค้าที่รุนแรงมากขึ้นภายใต้นโยบายปกป้องประเทศของ “โดนัลด์ ทรัมป์”