คปภ.เตือนภัย ตัวแทนประกันตุ๋นเงิน
คปภ.เผยธุรกรรมฉ้อฉลในคราบตัวแทนขายประกันชีวิต หลอกผู้เสียหายกู้เงินจากกรมธรรม์ แล้วเอาเงินไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว ทำให้ลูกค้าเสียหายกว่า 125 ล้าน
โดย...วารุณี อินวันนา
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยธุรกรรมฉ้อฉลในคราบตัวแทนครั้งใหญ่ที่ใช้ประกันชีวิตบังหน้า หาเงินไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว ทำให้ลูกค้าเสียหายด้วยวิธีการอันซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
ชนะพล มหาวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คปภ. กล่าวว่า คปภ.สำนักงานใหญ่ และ คปภ.สำนักงานจังหวัดระยอง และบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน จ.ระยอง ว่าได้รับความเสียหายจากการถูกตัวแทนฉ้อฉลเบี้ยประกันชีวิตรวม 80 ราย มูลค่า 127 ล้านบาท
ถือได้ว่าเป็นการทุจริตที่มีมูลค่าสูงสุด เพราะมีตัวแทนเกี่ยวข้องหลัก 1 ราย ซึ่งบริษัท กรุงไทย- แอกซ่าฯ ได้ส่งเรื่องให้ คปภ.เพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนแล้ว เมื่อ วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วิธีการฉ้อฉลดังกล่าวมีการใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นทางผ่าน เริ่มจากตัวแทนประกันชีวิตรายดังกล่าวได้ชักชวนให้ผู้เสียหายซื้อประกันชีวิต จากนั้นให้ผู้เสียหายกู้เงินตามกรมธรรม์ แล้วหลอกให้นำเงินกู้ไปลงทุนในบริษัทที่ตัวแทนจัดตั้งขึ้น
อีกกรณีคือ ให้ลูกค้าผู้เสียหายชำระเบี้ยประกันล่วงหน้าทั้งจำนวน เช่น ชำระเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 10 ปี จ่ายเบี้ยปีละ 2 แสนบาท ก็แนะนำให้ลูกค้าชำระ 5 ปีในงวดเดียวเป็นเงิน 1 ล้านบาท แล้วนำเบี้ยที่จ่ายเกินไป 4 ปีเอาไปลงทุนกับบริษัทที่ตั้งขึ้น โดยรับรองว่าจะจ่ายผลตอบแทนในอัตราสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร
"แต่มาเกิดเรื่องตรงที่ตัวแทนไม่สามารถชำระหนี้แทนได้ ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย จึงมาร้องเรียน" ชนะพล กล่าว
ชนะพล กล่าวว่า ในจำนวน มูลค่าความเสียหาย 125 ล้านบาทนี้ เบื้องต้นได้แบ่งกลุ่มผู้เสียหายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มี 26 ราย มูลค่าความเสียหาย 74 ล้านบาท มีการทำประกันชีวิตมาตั้งแต่ปี 2557 กลุ่มนี้มีการกู้เงินตามกรมธรรม์ และร่วมลงทุนในบริษัทที่ตัวแทนตั้งขึ้น โดยส่วนใหญ่มีอาชีพแพทย์ และชำระเบี้ยประกันต่อกรมธรรม์สูงรายละ 7-16 ล้านบาท โดยตัวแทนรายนี้ยินยอมรับสภาพหนี้ และจะดำเนินการชำระเบี้ยประกันชีวิตแทนลูกค้าหากการลงทุนประสบกับภาวะขาดทุน และส่วนใหญ่พบว่าจะชำระเบี้ยเป็นเงินสด ซึ่ง คปภ.ได้แนะนำให้บริษัทประกันชีวิตดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตัวแทน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไป
กลุ่มที่ 2 มี 38 ราย มูลค่าความเสียหาย 41 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการชำระเบี้ยล่วงหน้า โดยตัวแทนจะนำเงินส่วนเกินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไปลงทุนในบริษัทที่ตัวแทนตั้งขึ้น กลุ่มที่ 3 มี 14 ราย เป็นเงิน 12 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่ต่ออายุกรมธรรม์เดิม และชำระหนี้เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ และกลุ่มที่ 4 มี 2 ราย มีการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตใหม่
ชนะพล ระบุว่า ขณะนี้บริษัทประกันจะตรวจสอบว่าลูกค้าผู้เสียหายมีการชำระเบี้ย มีใบเสร็จออกโดยบริษัทจริงหรือไม่ หากมีหลักฐานยืนยันว่าชำระเบี้ยจริง บริษัทประกันชีวิตต้องรับผิดชอบชดใช้ความ เสียหายตามสัญญาประกัน
"คปภ.ขอเตือนประชาชนเมื่อทำประกันชีวิตแล้วให้ขอใบเสร็จรับเงินจากตัวแทนทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐาน" ชนะพล กล่าว
ด้าน บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ชี้แจงว่า บริษัทได้ระงับการทำงานของ จีรภา จันทะบูลย์ ที่เคยมีสถานะเป็นตัวแทนของบริษัท และเคยเป็นเจ้าของสำนักงานตัวแทนจังหวัดระยองไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างละเอียดร่วมกับ คปภ. เบื้องต้นพบว่า จีรภา ได้ชักชวนให้ผู้สนใจมาร่วมลงทุนกับ จีรภา และบริษัท เปี่ยมขวัญ ต่อมาไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ทำให้เกิดการร้องเรียน