posttoday

อินโดฯกับแผนขยาย การขนส่งทางเรือ

10 พฤษภาคม 2560

การขนส่งทางเรือนับว่าเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำสุดในบรรดาการขนส่งรูปแบบต่างๆ ทำให้หลายๆ ประเทศ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล [email protected]

การขนส่งทางเรือนับว่าเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำสุดในบรรดาการขนส่งรูปแบบต่างๆ ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งทางเรือมากขึ้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีแผนขยายการขนส่งทางเรือแบบประจำทาง (RO-RO) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อลดการขนส่งทางบกที่มีต้นทุนสูง

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ทั้งแง่จำนวนประชากรและพื้นที่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กระจายเป็นหมู่เกาะ ทำให้ต้นทุนในการขนส่งทางบกของอินโดนีเซียสูง อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการขนส่งนาน

เหตุนี้กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียจึงมีแผนขยายการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO ระหว่างจาการ์ตาและสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เพื่อลดความแออัดในการใช้ถนนทางหลวง Pantura ทางชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะชวา ที่ขึ้นชื่อว่ารถติดหนักมาก

เรื่องนี้มีการเปิดเผยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียออกมาว่า การให้บริการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO จะมีเส้นทางวิ่งจากจาการ์ตา-เซมารัง-สุราบายา โดยเริ่มดำเนินการในเดือน เม.ย.
ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียเชื่อว่าการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO จะมีการเติบโตที่ดี และยังมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้อินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการวางแผนเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีความสำคัญในเศรษฐกิจอาเซียน และกลุ่ม BIMP-EAGA หรือกลุ่มอนุภูมิภาคพื้นที่ที่มีการเติบโตสูง ประกอบด้วยบรูไน-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ หอการค้าพาณิชย์อินโดนีเซีย (KADIN) ให้ความเห็นว่าการบริการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO เชื่อมต่อระหว่าง Davao-General และ Santos-Bitung เป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ และการเข้าถึงตลาดฟิลิปปินส์จะง่ายขึ้นผ่านท่าเรือ Bitung สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าจากทางตะวันออกของอินโดนีเซีย

สำหรับการลงทุนของทั้งสองประเทศเป็นจุดเริ่มต้นในการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกระหว่าง Bitung-Davao จากเดิมใช้เวลาขนส่ง 3-5 สัปดาห์ ผ่าน Bitung-Jakarta/Surabaya-Manila-Davao แต่การขนส่งทางเรือแบบ Ro-RO จะใช้เวลาเพียง 1-2 วัน จาก Bitung-Davao

ส่งผลให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซียมีโอกาสส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ถ่าน เมล็ดกาแฟ สายไฟ ข้าวโพด วัตถุดิบ อาหารสัตว์ ไม้แปรรูป มะพร้าวอ่อน เนื้อ ถั่ว ถั่วเหลือง น้ำตาล ปาล์ม ปูนซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่อินโดนีเซียสนใจนำเข้าจากมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารฮาลาล ก๋วยเตี๋ยวแห้ง กาแฟ เครื่องดื่มกระป๋อง ผลไม้สดและอบแห้ง เป็นต้น

จากแผนขยายการขนส่งทางเรือของอินโดนีเซียทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นว่าการเชื่อมการขนส่งทางเรือระหว่างอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ จะเป็นโอกาสที่ดีหากนักธุรกิจไทยที่มีฐานการผลิตในอินโดนีเซียและมีแผนกระจายสินค้าไปยังประเทศฟิลิปปินส์ เพราะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและเวลาในการขนส่งได้มากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีต่อนักธุรกิจไทยที่มีความสนใจลงทุนในสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการขนส่งทางเรือแบบ RO-RO