สปาสบช่องรับบริหาร เจาะกลุ่มโรงแรม

13 พฤษภาคม 2560

ธุรกิจสปาเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีทั้งสปาที่เปิดเดี่ยวๆ สปาที่มีเครือข่ายสาขา

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ธุรกิจสปาเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีทั้งสปาที่เปิดเดี่ยวๆ สปาที่มีเครือข่ายสาขา รวมถึงสปาในโรงแรมที่โรงแรมสร้างแบรนด์ขึ้นมา แต่กลุ่มสปาในโรงแรมมีความท้าทายมากขึ้น เพราะจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการสปามีจำกัด ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ที่เข้าพัก ทำให้โรงแรมบางรายเริ่มปรับทิศทางไม่ทำสปาเอง

ประธานพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม แอ็ท สยาม ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมสยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เปิดเผยว่า โรงแรมสยาม แอ็ท สยาม กรุงเทพฯ ตัดสินใจไม่ทำสปาแล้ว และเปลี่ยนพื้นที่ทำสปาไปทำห้องพักระดับพรีเมียม สอดคล้องกับอีกหลายโรงแรมที่เริ่มหันมาเน้นหารายได้ห้องพักมากขึ้น และลดต้นทุนส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งสยาม แอ็ท สยาม มองว่าในจุดหมายเมืองอย่างกรุงเทพฯ การทำสปาในโรงแรมคงไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นจุดหมายรีสอร์ท ต่างจังหวัด สปาในโรงแรมก็ยังจำเป็นอยู่

วิบูลย์ อุตสาหจิต ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเวลเนส กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจสปาครบวงจร กล่าวว่า ขณะนี้มีเจ้าของโรงแรม 4-5 แห่ง เข้ามาหารือกับบริษัทเพื่อขอให้เข้าไปรับบริหารสปาให้ มีทั้งโรงแรมที่เคยทำสปาเองแล้วต้องการเปลี่ยนหาผู้ประกอบการ สปามาบริหารแทน โรงแรมที่ไม่เคยมีสปาในโรงแรมแต่ต้องการมีบริการนี้รองรับความต้องการของลูกค้าโดยไม่ต้องการทำเอง และโรงแรมที่กำลังก่อสร้างใหม่แล้วมองหาผู้ประกอบการ สปามาเป็นพันธมิตรบริการสปา

สาเหตุที่โรงแรมมาหารือให้บริษัทบริหารสปาให้ เพราะหลังเปิดบริการสปาเองไประยะหนึ่งพบว่า สปาไม่ได้เป็นส่วนที่ทำรายได้ให้โรงแรมมาก แต่โรงแรมกลับต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจากสปาไว้สูง อย่างไรก็ตามโรงแรม ก็ยังคงต้องการบริการนี้ไว้รองรับลูกค้า จึงมองหาทางเลือกให้ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในธุรกิจสปา ซึ่งถนัดอยู่แล้วเข้ามาดูแล

ที่ผ่านมา บริษัทรับบริหารสปาในโรงแรมโดยใช้แบรนด์ เล็ทส์ รีแลกซ์ และระรินจินดา เวลเนส สปา รวม 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรมในกลุ่มบริษัท แอล แอนด์ เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล รวม 5 สาขา โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท กระบี่ จากผลการดำเนินงานหลังรับบริหาร พบว่าจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการสปาในโรงแรมเพิ่ม 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่โรงแรมดำเนินการเอง ปัจจัยสำคัญมาจากลูกค้ารู้จักแบรนด์สปาของบริษัทดีอยู่แล้ว และนอกจากได้รับลูกค้าที่พักในโรงแรม ก็ยังมีลูกค้าภายนอกโรงแรมเข้าไปใช้บริการเพิ่ม โดยสปาที่บริษัทไปรับบริหารมีลูกค้าในโรงแรมใช้บริการ 30-40% ลูกค้านอกโรงแรม 60-70%

"ความท้าทายของผู้ประกอบการ สปาที่จะไปรับบริหารสปาในโรงแรมได้ ก็คือ ต้องเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารู้จักอยู่แล้ว ถ้าลูกค้าไม่รู้จักแล้วไปเปิดก็อยู่ลำบาก โดยนอกจากบริษัทผู้ประกอบการสปาที่รับบริหารสปาในโรงแรมเหมือนกันจะเป็นรายที่มีสปา 1-2 สาขา ที่คนรู้จักมากอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นสปาเครือข่ายขนาดใหญ่แบบบริษัท" วิบูลย์ กล่าว

ด้านภาพรวมธุรกิจบริษัท ไตรมาสแรกถือว่าเติบโตใกล้เคียงเป้าหมายและมั่นใจว่าทั้งปีจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่การเปิดสาขาใหม่ตั้งแต่ต้นปีเปิดในประเทศไปแล้ว 3 สาขา ยังเหลืออีก 7 สาขา ทยอยเปิดช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเปิดช่วงไตรมาส 2 รวม 2 สาขา ไตรมาส 3 รวม 3 สาขา ที่เหลือเปิดไตรมาส 4 โดยการรับบริหารสปาในโรงแรมจะนับรวมในแผนขยายสาขาในประเทศที่วางไว้ 10 สาขา/ปีด้วย

ทั้งนี้ ข้อดีของการไปรับบริหาร ให้โรงแรม คือ ทำให้บริษัทใช้เงิน ลงทุนขยายสาขาน้อยลง เพียงแค่ไปปรับปรุงบางส่วนของสปาที่โรงแรมลงทุนมาก่อนแล้ว ส่วนการขยายในต่างประเทศจะทำผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งในฮ่องกง ขณะนี้กำลังเจรจากับนักลงทุนที่สนใจซื้อแฟรนไชส์อยู่ และจากการที่ปีนี้วางแผนหาพื้นที่ขยาย 10 สาขา ในประเทศได้ครบตั้งแต่ต้นปีแล้ว จึงมีเวลาให้น้ำหนักขยายสาขาต่างประเทศมากขึ้น

เมื่อโรงแรมไม่ทำสปาเอง ก็ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสปาจะขยายธุรกิจได้รวดเร็วในจังหวะนี้

Thailand Web Stat