'รัตนกมล พุ่มเสนาะ' ความยากทำให้ได้เรียนรู้และโตขึ้น
โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง
โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง
“รัตนกมล พุ่มเสนาะ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG) วัย 33 ปี ดูแลด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจขององค์กร เป็นบุตรสาวคนโตของ “อารีย์ พุ่มเสนาะ” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง ซึ่งเธอเข้ามาช่วยคุณพ่อทำงานที่บริษัทได้เกือบ 10 ปีแล้ว
เธอเป็นนักเรียนทุนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำงานที่แรกเป็นนักวิเคราะห์โปรแกรมไฟแนนซ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เดินทางไปสหรัฐกับรุ่นพี่คนไทยเพื่อสื่อสารและแก้ไขโปรแกรมการเงินที่มีข้อบกพร่องไม่สามารถปิดงบการเงินและตัวเลขคาดการณ์ได้
ความที่ไม่กลัวฝรั่ง ทำให้เธอลุยงานเต็มที่ที่นั่น จนกลับมาได้เป็นหัวหน้าโครงการที่พยายามทำให้ลูกทีมทำโครงการให้สำเร็จ ทำให้ได้รับโปรโมทเป็นผู้จัดการมีอำนาจสั่งการมากขึ้น เป็นหัวหน้ารุ่นพี่ที่สนิทกัน
“มองว่ามันเร็วเกินไปกับอายุ 24 ปี ประกอบกับสุขภาพเริ่มไม่ดีเพราะมีเวลาพักผ่อนน้อย จึงขอหยุดเวลาทำงานที่นั้นไว้ที่ 2 ปี โดยตั้งใจไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ต้องมีประสบการณ์ทำงานก่อน จึงขอมาทำงานกับคุณพ่อที่บริษัท”
เริ่มต้นด้วยเป็นผู้ช่วยฝ่ายการเงินของบริษัท และตกใจกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นไทย จากที่เคยทำในระบบอเมริกันมา รวมทั้งดูแลงานทางด้านไอที นำระบบ ERP มาใช้ในงานเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของผู้บริหารเป็นหลัก และกว่าจะปร้บคนให้เข้ากับระบบได้ก็ใช้เวลา 3 ปี พร้อมกับดูแลการตลาดต่างประเทศ ลุยไปหาลูกค้าเอง จนได้ไปเจอกับพันธมิตรลูกค้ารายใหญ่ผู้ที่ทำผนังและหลังคาสำเร็จรูปที่มีฉนวนประหยัดพลังงานสัญชาติอังกฤษ ชื่อ คิงสแปน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนช่วยสร้างรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็นเท่าตัวจาก 200 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท
เธอมองว่า ธุรกิจหลักคือการรับทำคอยส์ชิ้นส่วนของแอร์ (OEM) มีความเสี่ยงเพราะไม่มีอำนาจต่อรองกับแบรนด์ใหญ่ เมื่อก่อนคุณพ่อจะไม่ทำแอร์แข่งกับลูกค้า แต่เพื่อลดต้นทุนลูกค้าก็สามารถไปซื้อเครื่องจักรมาทำคอยส์เอง รวมทั้งที่ลูกค้าประกอบชิ้นส่วนบางรายประสบปัญหา เคยประกอบแอร์เองแต่ขาดแรงงาน จึงตัดปัญหาจ้างข้างนอกเป็นผู้ประกอบ แต่เดิมไม่รับประกอบทั้งหมดทำให้บริษัทเสียลูกค้าไป
ตามขั้นตอนขั้นต่อไป CIG ต้องทำแอร์ แต่มองว่าการทำแบรนด์เองจะโตช้า จึงจะขยายไปทำห้องเย็น คือ สร้างห้องเย็นไปด้วย ขายแอร์ไปด้วย และมีคอยส์ของบริษัทเป็นส่วนประกอบ เหมือนทำชิ้นส่วนได้เงินหลักพัน ทำแอร์ได้หลักหมื่น แต่ทำห้องเย็นได้เป็นหลักแสนหรือหลักล้าน ขณะที่เริ่มมีผู้สนใจทำห้องแอร์เยอะ จึงตัดสินใจไปหาแบรนด์ จนเจอคิงสแปนและเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตร และมองว่าอนาคตจะเป็นสินค้าที่มาทดแทนสินค้าพรีแคส อีกทั้งถือเป็นสินค้านวัตกรรมและเป็นกลุ่มพรีเมียม
เปิดตลาดมาตั้งแต่ปี 2559 ทำได้รายได้แล้ว 50 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของรายได้รวมที่ทำได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าจะมีรายได้ส่วนนี้เพิ่มเป็น 150 ล้านบาท
“คอยส์ไม่ใช่ธุรกิจขาลง เพียงแต่ต้องหามูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และต่อยอดในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจได้ อนาคตวางตำแหน่งให้ตัวเองเป็นผู้ให้บริการผลิตและติดตั้งบริการอาคารเขียวครบวงจร จากที่เราผลิตคอยส์แอร์อย่างเดียว ก็มาเพิ่มบริการในการติดตั้งแอร์ให้กับหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ด้วย ที่จะเปลี่ยนคอยส์จากที่เราผลิตอยู่แล้ว รวมทั้งมีการทำผนังและหลังคาที่ประหยัดพลังงานในตัวจากสินค้าของคิงสแปน ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนที่แนะนำตัวกับลูกค้าและสะสมพอร์ตงาน ซึ่งมูลค่างานที่จะสามารถรับงานได้ก็จะเติบโตเรื่อยๆ”
สำหรับแผนงาน 3-5 ปี คือต้องการเพิ่มงานที่โซลูชั่นอาคารสีเขียวจากผนังและหลังคาเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% โดยเชื่อว่าเป็นได้เพราะเป็นเทรนด์อนาคตเน้นอาคารสีเขียวมากขึ้น และ 2 ปีที่ผ่านมามีโอกาสทำงานให้บริษัทขนาดใหญ่ เช่น สร้างโรงงานเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ทำศูนย์ข้อมูลให้กับโอบายาชิ และผนังที่อยู่ของนกเพนกวินที่สยามพารากอน ซึ่งอนาคตก็มีความสนใจจะเข้าไปร่วมรับงานด้านหลังคารถไฟฟ้าหรือสนามบิน
หลักการทำงานในช่วงแรกที่ทำที่ซีเกรทฯ คือ ทำอย่างไรให้ตัวเองได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นมากที่สุด ซึ่งความรู้สึกเปลี่ยนไปเมื่อมา CIG สิ่งที่ได้จากผู้บริหารฝ่ายการเงิน คือ การสอนให้เราละเอียดให้ดูหน้าดูหลัง รวมถึงวิชาไฟแนนซ์ที่ไม่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ ขณะที่คุณพ่อจะสอนให้เห็นความสำคัญของคนที่อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่วันแรก ต้องให้เกียรติเขา เลือกสรรและจัดงานให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าให้เข้ากันโดยใช้การสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแต่เป็นเรื่องสำคัญ
“ตอนมา CIG 2 ปีแรกอาจจะยังไม่ลึกซึ้งกับการทำงาน แรกมองแบบฝรั่งถ้าอะไรที่สร้างผลงานไม่ดีก็ต้องเคลียร์เพื่อให้บริษัทได้ประสิทธิภาพ จุดเปลี่ยนของเธอ คือ เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่โรงงานน้ำไม่ท่วม ขณะที่พื้นที่รอบข้างโรงงานท่วมหมด 2 เมตร เพราะเห็นรุ่นพี่และพนักงานกว่า 1,000 คน เทใจมาช่วยโรงงานกว่าบ้านของตัวเขาเองอีก เลยทำให้คิดว่า ปล่อยพวกเขาไม่ได้ ต้องพยายามทำให้ทุกคนผ่านไปด้วยกัน เพราะคุณพ่อสอนเสมอว่าต้องทำให้บริษัทเป็นองค์กรแห่งความสุขให้ได้”
“ทุกเรื่องราว มีจุดที่ยาก เมื่อพบแล้ว จะได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้โตขึ้น” เธอทิ้งท้าย