posttoday

"ผลตอบแทน" และ "ความเสี่ยง" ของกองทุนตราสารหนี้

29 มิถุนายน 2560

โดย...วิน พรหมแพทย์

โดย...วิน พรหมแพทย์, CFA

มีหลายคนเข้าใจว่าการซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ก็เหมือนกับการฝากธนาคาร แท้จริงแล้ว กองทุนรวมตราสารหนี้มีผลตอบแทนคาดหวังและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างจากเงินฝากธนาคารมาก เปรียบเทียบโดยย่อดังตาราง

โปรดสังเกตว่าผลตอบแทนคาดหวังของ “เงินฝากประจำ 12 เดือน” กับ “กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)” และ “กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)” ใกล้เคียงกันมาก แต่กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ได้เปรียบตรงที่เราได้รับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะไม่ต้องเสียภาษี ทั้งยังสามารถลงทุนระยะสั้นได้ ในขณะที่การฝากประจำ 12 เดือนนั้น ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเราต้องฝากเงินไว้จนครบกำหนด 12 เดือน จึงจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด หากถอนเงินก่อนก็อาจจะไม่ได้ดอกเบี้ยเลย

นอกจากนี้ หลายคนลืมไปว่า “เงินฝากธนาคาร” ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ไม่ได้เป็น “สินทรัพย์มั่นคงแบบ 100%” ดังเช่นในอดีต เพราะรัฐบาลได้ทยอยปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (www.dpa.or.th) ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 แจ้งวงเงินคุ้มครองเงินฝากต่อผู้ฝากหนึ่งรายต่อหนึ่งสถาบันการเงิน ดังนี้

- 11 ส.ค. 2559-10 ส.ค. 2561 วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 15 ล้านบาท

- 11 ส.ค. 2561-10 ส.ค. 2562 วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท

- 11 ส.ค. 2562-10 ส.ค. 2565 วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 5 ล้านบาท

- 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท

ดังนั้น ในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ เงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จะไม่ได้รับความคุ้มครองและกลายเป็น “สินทรัพย์เสี่ยง” แปลว่า หากธนาคารนำเงินฝากของเราไปปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้เสีย เงินฝากของเราก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย

ในทางตรงข้าม “กองทุนรวมตลาดเงิน” และ “กองทุนรวมตราสารหนี้” ที่นำเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งล้วนเป็นตราสารที่ออกหรือค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังในนามของรัฐบาลไทย จะนับว่ามีความมั่นคงสูงกว่าเงินฝากธนาคาร เทียบได้ว่าเป็นตราสารที่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเต็มจำนวน

เราควรทราบก่อนว่ากองทุนรวมตราสารหนี้โดยทั่วไป เน้นลงทุนในตราสารภาครัฐและเอกชนที่มีความมั่นคงสูง จึงมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) หรือความเสี่ยงที่ผู้ออกผิดจะผิดนัดชำระหนี้ในระดับต่ำ แต่ด้วยลักษณะการลงทุนที่เน้นตราสารที่อายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ทำให้มี ความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk) เพิ่มเข้ามา นั่นคือ โดยกลไกตลาด เมื่ออัตราดอกเบี้ย (Yield) เพิ่มขึ้น ราคาพันธบัตรจะปรับลดลง และหากดอกเบี้ยปรับลง ราคาพันธบัตรจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยิ่งพันธบัตรหรือหุ้นกู้อายุยาว ยิ่งมีความผันผวนของราคามาก

เราจะไม่เจอกับความเสี่ยงด้านราคา หากเราลงทุนในพันธบัตรแล้วถือจนครบอายุ แต่ด้วยกองทุนรวมตราสารหนี้เปิดให้ผู้ลงทุนซื้อขายหน่วยได้ทุกวัน จึงต้องประเมินราคาตลาด (mark-to-market) ทุกวัน ราคาพันธบัตรที่เปลี่ยนไปจึงมีผลให้ NAV มีการปรับขึ้นลงได้ทุกวันเช่นกัน

ข้อควรระวังในภาวะดอกเบี้ยผันผวนปี 2558-ต้นปี 2559 สภาพคล่องที่มีล้นระบบ ทำให้มีแรงซื้อพันธบัตรเข้ามามาก ราคาพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกับอัตราดอกเบี้ย (Yield) ลดต่ำลงมาก ในช่วงต้นเดือน เม.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ลดลงไปใกล้ 1.50% และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยต่ำกว่าของสหรัฐ หากย้อนไปดูผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ในช่วงนั้น จะเห็นตัวเลขสวยมากจาก “ราคาพันธบัตร” ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นตลาดก็ปรับตัวสู่ภาวะปกติ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ขึ้นมายืนเหนือ 2.00% เราจึงเริ่มเห็น NAV กองทุนตราสารหนี้ติดลบได้บ้าง

ผมมักจะแนะนำผู้ลงทุนว่าความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย มักเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” เนื่องจากตลาดตราสารหนี้แม้จะมีปริมาณการซื้อขายมาก แต่เป็นตลาดที่มีผู้เล่นสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนไม่กี่ราย มีหลายครั้งที่ Demand กับ Supply อาจจะไม่สมดุลกัน เช่น มีนักลงทุนต้องการขายพันธบัตรมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท นักลงทุนสถาบันฝั่งที่ต้องการซื้ออาจจะมีเงินสดในมือมากพอที่จะซื้อได้เพียง 2,000-3,000 ล้านบาท จึงต้องใช้เวลา 3-5 วัน กว่าจะ “รองรับแรงขาย” ได้หมด ราคาพันธบัตรจึงผันผวน และทำให้ NAV ปรับลดลง ผู้ลงทุนหลายคนเมื่อเห็น NAV กองทุนตราสารหนี้ปรับตัวลงก็ตกใจและรีบขาย แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” จึงควรเห็นเป็นโอกาสเข้าลงทุนมากกว่า

ตัวอย่างล่าสุดของ “โอกาส” การเข้าลงทุน เกิดขึ้นช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2559 จนถึงสิ้นปี หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับขึ้นจาก 2.67% เป็น 2.87% แทบจะทันที ทีมค้าตราสารของผมประเมินว่าอาจเป็นไปได้ที่คู่ค้าหลายรายเริ่มหยุดงานในเทศกาลคริสต์มาส แม้จะมีแรงขายจำนวนไม่มาก แต่การไม่มีคนซื้อเพราะหยุดงานกันหมด ก็ทำให้ราคาพันธบัตรปรับลงแรงได้ ผมและทีมงานเห็นว่านี่คือ “โอกาส” การเข้าลงทุน เพราะเมื่อคู่ค้ากลับมาทำงานหลังปีใหม่ก็จะมีแรงซื้อเข้ามารองรับ ผลปรากฏว่าช่วงหลังปีใหม่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลดลงจาก 2.87% ลงไปเหลือ 2.67% เท่าเดิม การตัดสินใจลงทุนในวันนั้นจึงนับว่าถูกต้อง เพราะได้ “ซื้อถูก” และ “ขายแพง”

เหตุการณ์ข้างต้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย อาจจะมีให้เห็นปีละ 2-3 ครั้ง เมื่อเกิดขึ้น และทำให้ NAV ปรับลดลง ก็มักทำให้ผู้ลงทุนตกใจและขายหน่วยลงทุน แต่หากเข้าใจสิ่งที่ผมอธิบายข้างต้นจะพบว่ามันคือ “โอกาส” การเข้าลงทุนมากกว่าครับ