posttoday

National E-Payment กับโลกแห่งความเป็นจริงของการจ่ายภาษี?

30 มิถุนายน 2560

โดย Tax Bugnoms

โดย  Tax Bugnoms

เมื่อพิจารณานโยบายด้านภาษีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงกฎหมายภาษีอากรต่างๆ ข่าวคราวเรื่องการขึ้นภาษีที่โยนหินถามทางกันมาเป็นระยะๆ และมาจบที่นโยบายเรื่องของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้อย่าง National E-Payment จนเห็นบางคนตั้งคำถามมาว่า “จะเก็บภาษีไปถึงไหน หรือว่าเรากำลังอยู่ในยุคภาษีอาน”
 
คอลัมน์วันนี้เลยใช้พื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของนโยบายล่าสุดอย่าง National E-Payment กับโลกแห่งความเป็นจริงของการจ่ายภาษีให้ฟังกันครับ…
 
National e-Payment คืออะไร และมันสำคัญยังไงกับเรา?
 
National e-Payment เป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันอย่างขันแข็ง เพื่อให้มีระบบรองรับการชำระเงินต่างๆสอดคล้องกับโลกของเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน
 
โดยนโยบายนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมาและทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น พร้อมเพย์ การขยายใช้บัตรอิเล็กทรอนิคส์ ไปจนถึงระบบภาษีและการจัดการธุรกรรมต่างๆที่กำลังจะตามมาอีกมากมาย
 
คำถามคือ เราเตรียมพร้อมรับมือกันแค่ไหน?
 
เมื่อมีนโยบายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแบบนี้ ทำให้หลายคนต้องย้อนกลับมามองดูตัวเองว่า แล้วที่ผ่านมานั้น ประชาชนคนไทยได้มีการวางแผนจัดการด้านการเงินและด้านภาษีแค่ไหน?? เพราะถ้านโยบายดี หรือมีประโยชน์ แต่ไม่มีใครใช้ มันก็อาจจะแปลว่าไม่มีประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
 
ผมขอลองทดสอบกันง่ายๆด้วยคำถามสั้นๆว่า ตอนนี้คุณสมัครพร้อมเพย์หรือยังครับ?
 
ถ้าหากคำตอบคือ “ไม่” และตามมาด้วยเหตุผลว่า “กลัวจะถูกตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารและทำให้เสียภาษีเพิ่ม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ใครหลายคนยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสำหรับการใช้งานระบบเท่านั้น แต่มันแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย นั่นคือ “ความไม่เข้าใจเรื่องภาษี”
 
เพราะความเป็นจริง คือ ระบบพร้อมเพย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจตรวจสอบของเจ้าพนักงานสรรพากร (แม้ว่าจะชักชวนให้สมัครแกมบังคับจากนโยบายคืนภาษีเมื่อต้นปีก็ตาม) เนื่องจาก ประมวลรัษฏากรได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีไว้ตั้งแต่แรก โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบพร้อมเพย์แต่อย่างใด (ตามมาตรา 19 และ 23 แห่งประมวลรัษฏากร) และนั่นแปลว่าไม่ว่าจะมีพร้อมเพย์หรือไม่ เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลเราได้อยู่ดี
 
เริ่มสังเกตแล้วใช่ไหมครับว่า มันมีอคติบางอย่างบังตาเราอยู่…
 
เปลี่ยนแปลง หรือ รอคนอื่นมาเปลี่ยน?
 
สำหรับเรื่องพร้อมเพย์นั้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนในส่วนแรกของนโยบาย National E-payment เท่านั้น ถ้าหากใครติดตามข่าวสารที่ผ่านมาใน 2-3 เดือนนี้ จะเห็นว่ามีนโยบายมากมาย ตั้งแต่การชักชวนให้ติดตั้งเครื่อง EDC (เครื่องรูดบัตร) โดยให้สิทธิพิเศษจูงใจด้านภาษีอย่างการหักรายจ่ายส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า แถมยังมีนโยบายชิงโชคต่างๆให้ผู้ที่ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้าได้ลุ้นรางวัลใหญ่ๆอีกมากมาย ไปจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ. การบัญชี 2543 ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
 
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีระบบเกี่ยวกับการจัดการภาษีอย่าง e-Tax Invoice และ e-Receipt หรือแม้แต่ e-Tax Invoice By email สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนัก ก็เป็นอีกโครงการที่จะทำให้ารออกเอกสารหลักฐานต่างๆทั้งทางด้านบัญชีและภาษีนั้น กลายมาเป็นระบบออนไลน์และเป็นเอกสารอิเล็คทรอนิคส์ทั้งหมดตามที่นโยบายวางไว้
 
ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจ แต่อ่านถึงตรงนี้แล้วไม่เข้าใจ หรือไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย นั่นแสดงว่ามีโอกาสที่คุณจะมีปัญหาได้อนาคตอันใกล้นี้ครับ
 
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าทางเลือกนั่นมีอยู่ 2 ทาง คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับสิ่งใหม่ๆ (เตรียมตัวล่วงหน้า) หรือว่ารอให้คนอื่นมาเปลี่ยนแปลงเรา (อย่างการใช้กฎหมายบังคับผ่านทางภาครัฐ) ซึ่งการเลือกแบบแรกนั้นย่อมได้เปรียบมากกว่า จริงไหมครับ?
 
ในอนาคตเราจะเสียภาษีกันมากขึ้นใช่ไหม?
 
หากมองในมุมของภาครัฐ หากนโยบาย National e-Payment ทำสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายนี้ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้มีโอกาสในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่เคยจ่ายภาษีเลย ย่อมถูกบังคับเข้าระบบโดยอัตโนมัติ คนที่จ่ายภาษีไม่ถูกต้องก็จะถูกผลักดันให้ทำทุกอย่างให้เป็นระบบมากย่ิ่งขึ้น
 
ในขณะที่คนเสียภาษีถูกต้องนั้น ก็จะทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากระบบต่างๆ สามารถช่วยให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ไปจนถึงการจัดการต่างๆได้สะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ปัญหาต่างๆน้อยลง รวมถึงการแข่งขันกับคู่แข่งที่หลบเลี่ยงภาษีก็จะง่ายยิ่งขึ้น เพราะกลายเป็นว่าทุกคนต้องเข้าสุ่ระบบเหมือนๆกัน
 
ผมคิดว่านี่คือจุดประสงค์ที่ภาครัฐมองไว้ คือ การให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีอย่างถูกต้องโดยจัดเก็บในฐานภาษีที่กว้างขึ้น ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง ซึ่งตรงตามลักษณะของภาษีอากรที่ดีอย่างที่ Adam Smith บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ว่าไว้
 
แต่สำหรับโลกแห่งความเป็นจริง เราคงต้องมาติดตามดูกันในอนาคตข้างหน้านี้ ว่าจะเป็นอย่างที่โครงการนี้คาดหวังไว้หรือไม่
 
หรือว่าจะเกิดมาขึ้นแล้วตายจากไป เหมือนที่ใครหลายคนอยากให้เป็น...