Internet of Vehicles
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)ช่วงนี้กระแสเรื่อง Connected Car และSelf-Driving Car มาแรงมาก เหล่าบริษัททั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Tesla และสตาร์ทอัพอย่าง Uber ต่างทุ่มสรรพกำลังทำวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์กันอย่างแข็งขัน Uber นำร่องรถแท็กซี่ไร้คนขับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วที่เมืองพิตต์สเบิร์กสหรัฐอเมริกา
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ช่วงนี้กระแสเรื่อง Connected Car และSelf-Driving Car มาแรงมาก เหล่าบริษัททั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Tesla และสตาร์ทอัพอย่าง Uber ต่างทุ่มสรรพกำลังทำวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์กันอย่างแข็งขัน Uber นำร่องรถแท็กซี่ไร้คนขับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วที่เมืองพิตต์สเบิร์กสหรัฐอเมริกา
แม้แต่สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราก็มีแท็กซี่ไร้คนขับพัฒนาโดยสตาร์ทอัพชื่อ nuTonomy เร็วๆ นี้ CEO ของ Tesla ยังประกาศว่าขอเวลาอีก 2 ปี ที่จะพัฒนารถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองในระดับที่คนขับสามารถนอนหลับได้เลย!
นับว่าวิวัฒนาการของรถขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่หลายสำนักเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มเห็นการใช้งานจริงหลังปี 2020
แน่นอนว่าการที่รถจะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางโดยไม่พึ่งคนขับ ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งการประมวลผลภาพ การระบุตำแหน่ง เซ็นเซอร์ และแน่นอนว่ารถเหล่านี้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานด้วย รถยนต์สมัยใหม่จะมีซิมการ์ด ติดมาตั้งแต่โรงงานเลย จึงนับได้ว่ารถยนต์เป็น IoT ชนิดหนึ่ง
และนี่คือที่มาของคำว่า Internet of Vehicles
การที่รถเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาด้วยตัวเอง (ไม่ต้องผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่) ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สามารถอัพเดทซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น เช่น ระบบขับขี่อัตโนมัติเวอร์ชั่นใหม่ เข้าไปที่รถยนต์ได้ในข้ามคืน และสามารถเห็นสถานะการขับขี่และการซ่อมบำรุงของรถแต่ละคัน
ในอนาคตการเอารถเข้าศูนย์ทุก 6 เดือนจะกลายเป็นเรื่องที่เชย เพราะศูนย์จะโทรมาแจ้งเองเมื่อผ้าเบรกถึงเวลาเปลี่ยน หรือแบตเตอรี่เริ่มอ่อน
ในทางกลับกันคนขับก็สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการหรือหน่วยบริการฉุกเฉินได้ทันทีหากเกิดอุบัติเหตุ ความสามารถนี้เรียกว่า Emergency Call หรือ eCall ยุโรปได้ออกมาตรการบังคับให้รถใหม่ทุกคันให้มีปุ่ม eCall ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 เป็นต้นไป โดยปุ่ม eCall นี้จะโทรไปที่เบอร์ 112 ซึ่งเป็นเบอร์กลางของหน่วยบริการฉุกเฉินในยุโรป
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังสำคัญต่อการขับขี่อัตโนมัติ การวางแผนการเดินทาง การนำทางด้วยแผนที่ การรับรู้สภาพจราจร สำหรับตัดสินใจเปลี่ยนเลน หรือเลือกเส้นทาง ล้วนต้องการข้อมูลที่อัพเดททุกวินาทีหรือถี่กว่านั้น ตัวอย่างเช่น รถของ Tesla สามารถ เลือกจุดหมายปลายทางเอง โดยตรวจสอบกับตารางนัดหมายของเจ้าของรถ
แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตยังนำมาซึ่งความบันเทิงในรถ ในเมื่อเราไม่ต้องขับรถเองแล้ว ก็สามารถดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ตได้เสมือนเวลาอยู่บ้าน เปลี่ยนการสูญเสียเวลาระหว่างผจญรถติดเป็นเวลาของการพักผ่อน ว่าแล้วก็อยากได้ รถอย่างนี้มาใช้เร็วๆ
ระหว่างนี้คงต้องท้าให้ Google Telsa และ Uber มาทดสอบรถไร้คนขับในกรุงเทพมหานคร เมืองรถติดอันดับ 1 ของโลกให้ได้ก่อน
เมื่อยานยนต์เชื่อมโยงเป็นโครงข่าย
แสนสบายขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ลัดเลาะหลบเลี่ยงหลีกทางติดขัด
ช่วยประหยัดพลังงานและเวลา n